Last updated: 7 พ.ย. 2567 | 322 จำนวนผู้เข้าชม |
โครงการนำร่องการจัดการพื้นที่เกษตรแบบครอบคลุมในภาคเหนือ เสริมศักยภาพเกษตรกรผ่านการนำทักษะ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพชีวิต และเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) พร้อมด้วยบริษัท เป๊ปซี่โค เซอร์วิสเซส เอเชีย จำกัด และบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและชุมชนท้องถิ่น ประกาศความสำเร็จใน การดำเนินโครงการการจัดการห่วงโซ่อุปทานข้าวและมันฝรั่ง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ด้วยวิธีการปลูกข้าว มันฝรั่ง และข้าวโพดหมุนเวียนอย่างยั่งยืน (RePSC) ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เกษตรกรหลายพันราย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรสตรีในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก ข้อมูลจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC) พบว่า ภาวะโลกร้อน 1.5 องศาเซลเซียสอาจลดผลผลิตจากพืชได้ถึง 30% ในบางภูมิภาค และทำให้ประชากรอีก 250 ล้านคนตกอยู่ในความไม่มั่นคงทางอาหารภายในปี พ.ศ. 2593 เป๊ปซี่โค ในฐานะหนึ่งในบริษัทอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก ซึ่งทำงานร่วมกับเกษตรกรมากกว่า 40,000 ราย ในกว่า 60 ประเทศ ตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบอาหาร จึงมุ่งมั่นในการบรรเทาผลกระทบดังกล่าว รวมถึงให้ความรู้เกษตรกรให้สามารถเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เป๊ปซี่โคยังตั้งเป้าหมายในการส่งเสริมการปฏิรูปที่ดิน 7 ล้านเอเคอร์ (ประมาณ 18 ล้านไร่) ทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2573 โดยการส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ สนับสนุนเกษตรกรรายย่อย แบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญให้แก่เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายสุดิปโต โมซุมดา กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจอาหารอินโดจีน บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด (เป๊ปซี่โค ประเทศไทย) กล่าวในพิธีเปิดงานว่า "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังคุกคามวิถีชีวิตของเกษตรกรชาวไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ และส่งผลกระทบต่อผลผลิตหลายชนิด ทั้งข้าว ถั่วลันเตา ข้าวโพด และมันฝรั่ง โดยพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกอาจลดลงมากถึงร้อยละ 40 ยิ่งไปกว่านั้น เกษตรกรยังต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมรุนแรง ดินและโคลนถล่ม ซึ่งสร้างความเสียหายต่อพื้นที่เกษตร การดำรงชีพ และชุมชน จากผลการศึกษาพบว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยอาจส่งผลให้ผลผลิตมันฝรั่งลดลง และเกษตรกรต้องเผชิญกับการระบาดของโรค ศัตรูพืช และต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้น ดังนั้น เราจึงต้องเร่งช่วยให้เกษตรกรพร้อมปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง มิเช่นนั้น อนาคตของเกษตรกรรายย่อยจะตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างเลี่ยงไม่ได้”
โครงการ RePSC ดำเนินงานโดยองค์กร GIZ ประเทศไทย บริษัท เป๊ปซี่โค เซอร์วิสเซส เอเชีย จำกัด และบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการ DeveloPPP พร้อมด้วยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการข้าว โดยใช้แนวคิดที่ยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาตลอดทั้งปี เร่งการปรับตัวและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควบคู่ไปกับการเพิ่มช่องทางการตลาดและพัฒนาศักยภาพการปรับตัวของชุมชน
ตลอดปี พ.ศ. 2565-2567 โครงการได้จัดกิจกรรมฝึกอบรม 4 ด้าน ในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ได้แก่ การปลูกพืชผลทางการเกษตร การทำเกษตรแบบครอบคลุม การพัฒนาชุมชนเป็นศูนย์กลางการเกษตร และการเกษตรแบบฟื้นฟูเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ที่ปรึกษาด้านการเกษตร ผู้รับซื้อผลผลิตหมุนเวียน ตลอดจนชุมชนท้องถิ่น
ดร.นานา คึนเคล ผู้ประสานงานกลุ่มเกษตรและอาหาร GIZ ประจำประเทศไทย กล่าวถึงการดำเนินโครงการดังนี้ “เราได้สร้างพื้นที่สำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมศักยภาพทางการเกษตร ให้กับเกษตรกรให้มีทักษะและความสามารถในการนำเครื่องมือดิจิทัลและทรัพยากรต่าง ๆ มาใช้จัดการพื้นที่ทางการเกษตร พัฒนามาตรฐานทางการผลิตและศักยภาพในการแข่งขันให้กับภาคเกษตรของประเทศไทย”
ผลของการดำเนินโครงการ RePSC แสดงให้เห็นกว่า เกษตรกรสมาชิกมากกว่า 2,000 รายมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นจากการนำทักษะที่ได้เรียนรู้จากการอบรมการเกษตรเชิงฟื้นฟูและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยกตัวอย่างเช่น การปลูกพืชผลทางการเกษตรแบบหมุนเวียน การจัดการดินด้วยระบบจีพีเอส (GPS) การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน การจัดการดิน น้ำ ฟางและไม่เผาตอซัง ในพื้นที่เกษตรมากกว่า 1.3 หมื่นไร่ เกษตรกรกลุ่มนี้มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรได้ถึง 20% เนื่องจาก 1 ใน 4 ของเกษตรกรสมาชิกโครงการเป็นสตรี โครงการตระหนักถึงความสำคัญของของบทบาทสตรีในภาคเกษตรไทย จึงได้ดำเนินการอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรสตรีในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงนโยบายทางการเกษตร ดังต่อไปนี้ “ประเทศไทยเรามีนโยบายสร้างระบบที่เข้มแข็งเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และให้พื้นที่การมีส่วนร่วมของทุก
เพศเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของภาคเกษตร การทำงานร่วมกับ GIZ ผ่านโครงการเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ มุ่งเน้นเพื่อยกระดับเกษตรกรรมฟื้นฟูและเกษตรอัจฉริยะ ส่งเสริมกรอบแนวคิดและศักยภาพให้เกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาเดิม ๆ และเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ”
ภายในงาน มีการนำเสนอข้อมูลความสำเร็จของโครงการในหัวข้อ “แนวทางการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคเกษตรในพื้นที่และก้าวต่อไป” (The footprint of climate resilience farming on the ground and step forward” “RePSC project remarkable outcome) นางวิสา หล้าคำภา ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรสตรีในโครงการ RePSC จังหวัดเชียงราย ได้แบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับความสำเร็จของชุมชนในการยกระดับการจัดการพื้นที่เกษตรว่า “สำหรับเกษตรกรรายย่อย การจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องสภาพอากาศและความต้องการของตลาดต่างประเทศ นับเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่พอได้มาอมรมอย่างต่อเนื่อง ได้เรียนรู้มาตรฐานการทำเกษตรและระบบการจัดการข้อมูลที่โครงการแนะนำ พวกเราจึงมารวมตัวกันทำงาน แบ่งปันความรู้และประสบการณ์กันในกลุ่มช่วยกันพัฒนาเรื่องการเกษตรและการบริหารกลุ่มเกษตรกรให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในระยะยาว”
สำหรับพิธีปิดโครงการในครั้งนี้จัดขึ้น ณ โรงแรมเรอเนสซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ นำเสนอผลสำเร็จของความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรรายย่อยในการสร้างความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่อุปทานพืชผล ภายในงานมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 50 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากบริษัท เป๊ปซี่โค เซอร์วิสเซส เอเชีย จำกัด บริษัท เป๊ปซี่- โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด องค์กร GIZ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดยกรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จของโครงการและรับชมผลงานของกลุ่มเกษตรกรรายย่อย