"สิงห์ เอสเตท" คว้ารางวัล Thailand’s Most Admired Company สาขาความรับผิดชอบต่อสังคมจากเวที BrandAge

Last updated: 7 เม.ย 2566  |  285 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"สิงห์ เอสเตท" คว้ารางวัล Thailand’s Most Admired Company สาขาความรับผิดชอบต่อสังคมจากเวที BrandAge

"สิงห์ เอสเตท" ได้รับรางวัล Thailand’s Most Admired Company สาขา “ความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate CSR)” ในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นผลจากการสำรวจ 2022-2023 Thailand’s Most Admired Company ของนิตยสาร BrandAge โดยในปีนี้มีคะแนนรวมเป็น TOP 3 ของกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์เมืองไทย

นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การได้รับรางวัลอันทรงเกียรติครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายในองค์กรของเรา ซึ่งพยายามส่งมอบคุณค่าสู่สังคมไทยเสมอมา และนับเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจที่เราได้รับคู่กับบริษัทแม่ คือบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งได้รับรางวัล Best Corporate CSR มาอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของสิงห์ เอสเตท แม้ยังถือเป็นบริษัทน้องใหม่ที่ดำเนินธุรกิจก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 แต่ก็สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็วและมั่นคงจากผลประกอบการที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง รางวัลนี้ยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องการันตีถึงความตั้งมั่นในปณิธานของบริษัทแม่ตั้งแต่วันแรกของการดำเนินธุรกิจ ในการสานต่อพันธกิจการรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมมอบคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายรวมถึงการสร้างสรรค์สังคมที่ดีให้กับคนไทยอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการดำเนินกิจการด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับกลยุทธ์แผนธุรกิจระยะยาว สิงห์ เอสเตท ได้กำหนดเป้าหมายในการกำกับดูแลกระบวนการทำงานตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ภายใต้วิสัยทัศน์ “Sustainable Diversity – สร้างความหลากหลายที่สมดุลเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน” โดยแบ่งเป้าหมายหลักเป็น 3 ด้านดังนี้

1.การสร้างสรรค์สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society)

สิงห์ เอสเตท มุ่งมั่นสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ CN ภายในปี 2030 โดยกำหนดแผนลดการปล่อยคาร์บอนลงร้อยละ 5 ต่อปี พร้อมนำเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเข้ามาทดแทนพลังงานจากฟอสซิลให้ได้มากที่สุด อาทิ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในโครงการโรงแรม พร้อมทั้งตั้งเป้าดูแลพื้นที่ดูดซับคาร์บอนในอัตราส่วน 1:1 กับพื้นที่ก่อสร้างโครงการ โดยมีเป้าหมายที่ 1 ล้านตารางเมตรภายใน 10 ปี ทั้งยังร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อดำเนินโครงการปลูกป่าที่สิงห์ปาร์คเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีแผนการสร้างชุมชนน่าอยู่ “S District” ในบริเวณที่มีอาคารสำนักงานของบริษัทตั้งอยู่ ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมือง

2. การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ความสมบูรณ์สูง (Key Biodiversity Area)

ในส่วนธุรกิจโรงแรมที่บริหารโดย SHR ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของสิงห์ เอสเตท ได้กำหนดให้มีโครงการอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติรอบโครงการ รวมถึงโครงการสร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มในพื้นที่

นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 โครงการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากโดยสิงห์มีโอกาสร่วมสนับสนุนโครงการของพันธมิตรระดับโลกและหน่วยงานระดับประเทศหลายแห่ง อาทิ โครงการขยะทะเลร่วมกับองค์กร Parley ที่ Crossroads Maldives หรือโครงการศูนย์เรียนรู้ทางทะเลและป่าชายเลนน้ำใสที่โรงแรม SAii Phi Phi ร่วมกับอุทยานแห่งชาติและ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในปี 2022 มีสัตว์ทะเลหายากในบัญชี IUCN Red List ซึ่งมีสถานะตั้งแต่ “มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable)” ไปจนถึง “ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endanger)” ถูกสำรวจพบในบริเวณโครงการมากถึง 21 ชนิด ซึ่งทั้งหมดถูกพบในพื้นที่ภายใต้โครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพภายใต้ชื่อ “SeaYouTomorrow”

3. การส่งเสริมความหลากหลายทางเชื้อชาติและการสร้างภูมิสังคมที่ยั่งยืน (Inclusive Society)

สิงห์ เอสเตท มีธุรกิจที่หลากหลายและฐานการดำเนินงานในหลายประเทศ ทั้งยังมีพนักงานจากหลายชาติหลายภาษาร่วมทำงานเป็นทีมเดียวกัน ดังนั้น บริษัทฯ จึงดูแลทรัพยากรมนุษย์บนบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนในระดับสากล เพื่อรักษาความเท่าเทียม พัฒนาความรู้ความสามารถ และสร้างโอกาสให้พนักงานทุกคนสามารถสร้างงานและรายได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเคารพในวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนาของชุมชนในท้องถิ่นที่บริษัทฯ เข้าไปดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัด รวมทั้งมีการกำกับดูแลพันธมิตร คู่ค้า ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ภายใต้หลักธรรมาภิบาล

นอกจากนี้ สิงห์ เอสเตท ยังให้ความสำคัญในการสนับสนุนกีฬาคนพิการอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้สนับสนุนโครงการศูนย์ฝึกนักกีฬา Boccia และมอบทุนนักกีฬาเพื่อส่งมอบกำลังใจให้กับนักกีฬาทีมชาติไทย

“การสานต่อพันธกิจในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ของฝ่ายบริหารที่ชัดเจน ทุกคนต้องเห็นภาพและมีเป้าหมายเดียวกัน ตั้งแต่ระดับกรรมการไปจนถึงหัวหน้างานที่สอดคล้องกันในทุกขั้นตอน เพื่อให้พนักงานเข้าใจว่าธุรกิจกำลังเดินไปในทิศทางเดียวกัน ความท้าทายของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คือการเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง มีสภาวะการแข่งขันสูง ซึ่งส่งผลให้เกิดความผกผันจากผลประกอบการที่สูงด้วยเช่นกัน เราจึงต้องสร้างดุลยภาพระหว่างการสร้างผลกำไร กับการตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยต้องพิจารณาห่วงโซ่มูลค่าทั้งหมดเพื่อค้นหาว่า Give and Take อยู่ตรงไหน เพื่อให้เราเติบโตทางธุรกิจไปพร้อมกับด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” นางฐิติมา กล่าวปิดท้าย


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้