Last updated: 10 ก.ค. 2566 | 1972 จำนวนผู้เข้าชม |
"คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล" นอกจากทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการบริการเพื่อประชาชนและชุมชน โดยมี "ศูนย์กายภาพบำบัด" ศักยภาพสูงถึง 2 แห่ง ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานดีเยี่ยมจาก "สภากายภาพบำบัด" เป็นศูนย์ฯ ภายใต้คณะกายบำบัดแห่งแรกในประเทศไทยสามารถดูแลผู้รับบริการได้อย่างมีมาตรฐาน
ปัจจุบัน คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขยายบริการสู่ช่องทาง "HeaRTS" (HealthCaRe Tele-delivery Service) พร้อมส่งนักกายภาพบำบัด และนักกิจกรรมบำบัด ผู้เชี่ยวชาญให้บริการดูแลผู้รับบริการถึงบ้าน (HeaRTS@Home) เริ่ม 1 กรกฎาคม 2566 นี้
รองศาสตราจารย์ ดร. กภ.จารุกูล ตรีไตรลักษณะ คณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวย้ำถึงเจตนารมณ์ที่จะนำพาคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ก้าวขึ้นสู่ระดับเอเชียด้านกายภาพบำบัด และกิจกรรมบำบัด จากประสบการณ์รับใช้สังคมไทยมานาน 58 ปี ให้บริการชุมชนโดยรอบด้วยความทุ่มเท พร้อมพัฒนาและการบูรณาการ งานวิจัยและวิชาการ และการให้บริการจนมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศอินโดนีเซีย และไต้หวัน ซึ่งได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษในการที่จะนำ "HeaRTS" ไปเป็นต้นแบบให้บริการ
ในทางกายภาพบำบัด การรักษาด้วย "การสัมผัส" ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วย ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดผ่านแอปพลิเคชัน "HeaRTS" เชื่อมั่นว่าจะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการดูแลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้มองไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการใช้บริการจาก "HeaRTS" เพื่อดูแลพนักงานให้ห่างไกลจาก "ออฟฟิศซินโดรม" (Office Syndrome) ซึ่งในส่วนของภายในมหาวิทยาลัยมหิดลได้ทดลองดูแลนำร่องแล้วในบางส่วนงาน และเตรียมขยายผลสู่ภาครัฐ และภาคเอกชนภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึง พร้อมมีแผนขยายเพิ่มเติมผ่านการเบิกจ่ายต่อ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
โดยในช่วงแรกจะเปิดให้บริการสำหรับผู้ป่วยเดิม ผู้ป่วยใหม่ของ ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วจึงจะขยายให้กลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อสัมผัส "HeaRTS" กันได้โดยทั่วถึง
รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงที่มาความก้าวล้ำของ "HeaRTS" ในส่วนที่เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนจาก DCU (Digital Convergence University) และโครงการ Mahidol Incubation Program
HeaRTS เป็นหนึ่งในทีมที่มหาวิทยาลัยมหิดลภาคภูมิใจ และกลไกนี้ นับเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 62 ของโลกด้านนวัตกรรม (Innovation) ในการจัดอันดับโดย Time Higher Education Impact Rankings 2023 for SGGs ที่เพิ่งได้รับการประกาศเมื่อเร็วๆ นี้
เนื่องด้วย "HeaRTS" สร้างสรรค์ขึ้นภายในรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็น "มหาวิทยาลัยแห่งสุขภาวะ" ที่ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่เน้นให้บริการประชาชนเป็นหลัก สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล จะช่วยในการสนับสนุนรูปแบบการดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้มีความเหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ HeaRTS ได้ร่วมกับบริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด (SIVITT - Siriraj Vittayavijai) ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อออกแบบการให้บริการผ่านระบบโลจิสติกส์ภายใต้ความเหมาะสมในเชิงสังคม
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ กล่าวเพิ่มเติมในฐานะประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด (SIVITT - Siriraj Vittayavijai) ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ "ศิริราชมูลนิธิ" ว่า ด้วย "ต้นทุนทางนวัตกรรม" ที่สูงด้วยเทคโนโลยีของศิริราชวิทยวิจัย ถือเป็นการตอบโจทย์การให้บริการต่อสังคมในการนำผลงานนวัตกรรมและนวัตกรรมงานวิจัยไปใช้งานได้จริง สามารถแข่งขันได้ในเชิงธุรกิจสู่ผู้ป่วยคนไทย โดยเชื่อมั่นว่าจะช่วยสนับสนุน "HeaRTS" ให้บรรลุเป้าหมายในการให้บริการที่จะทำให้ประชาชนได้เข้าถึงมากยิ่งขึ้น ดำเนินการผ่านระบบโลจิสติกส์ และลูกค้าสัมพันธ์โดย SIVITT ที่พร้อมเปิดให้บริการส่งนักกายภาพบำบัด และนักกิจกรรมบำบัดผู้เชี่ยวชาญให้บริการดูแลผู้ป่วยถึงบ้าน ซึ่งอยู่ในภารกิจงานบริการ นอกเหนือจากภารกิจงานวิจัยทางคลินิกของ SIVITT
และเชื่อมั่นว่าจะทำให้แอปพลิเคชัน "HeaRTS" จัดบริการที่ดีที่สุดแก่ผู้บริการ โดยสามารถนัดจองเวลานักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญพร้อมชำระค่าใช้จ่ายที่รวมเบ็ดเสร็จทั้งค่าบริการ ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ และค่าเดินทาง โดยมีขอบเขตให้บริการภายในรัศมี 20 กิโลเมตร นับจากที่ตั้งของคลินิกกายภาพบำบัด ทั้งที่ศาลายา และปิ่นเกล้า ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป