Last updated: 13 ส.ค. 2566 | 600 จำนวนผู้เข้าชม |
หากพูดถึงงานด้านศิลปะวัฒนธรรมแล้ว ลายผ้าถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีความสวยงาม ประณีตและละเอียดอ่อน โดยเฉพาะ "ผ้าลายอย่าง" เอกลักษณ์อยุธยา "จุฬาพัสตร์"
"ผ้าลายอย่าง" เป็นเครื่องนุ่งห่มที่ชนชั้นปกครองในราชสำนักอยุธยาต้องการใช้ผ้าที่มีลักษณะพิเศษไม่ว่าจะเป็นวัสดุสิ่งทอ รูปแบบ และลวดลายเพื่อสร้างความแตกต่างของฐานันดรศักดิ์ โดยให้ช่างผู้ผลิตผ้าที่อยู่ในอินเดียผลิตผ้าตามลวดลายที่ต้องการแล้วใช้แม่พิมพ์ไม้หรือโลหะพิมพ์ลงบนผ้าที่ทอจากวัสดุเส้นใยธรรมชาติ เช่น ฝ้าย และไหม จากนั้นเมื่อผลิตตรงตามต้องการแล้วส่งกลับมายังราชสำนักสยามในลักษณะผ้าเนื้อดีและมีลวดลายที่สวยงามวิจิตรตระการตา จึงเป็นที่มาของ "ผ้าลายอย่าง" หมายถึง ผ้าที่ทำตามแบบอย่างลวดลายที่ทางราชสำนักกรุงศรีอยุธยากำหนดให้ ดังนั้นผ้าลายอย่างจึงใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์และในราชวงศ์ชั้นสูง จึงเป็นผ้าชนิดพิเศษที่มีความแตกต่างจากผ้าลายที่มีจำหน่ายทั่วไป
โครงการฟื้นฟูและต่อยอดผ้าลายอย่างเอกลักษณ์อยุธยา “จุฬาพัสตร์” สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน โดย อาจารย์ ดร.สุรินทร์ ศรีสังข์งาม ผู้อำนวยการสถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ผลงานวิจัยที่ได้คิดค้นและนำมาจัดแสดงในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 หรือ Thailand Research Expo 2023 ซึ่งจัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งผลงานที่มุ่งให้เกิดการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน
อาจารย์ ดร.สุรินทร์ ศรีสังข์งาม ผู้อำนวยการสถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัพระนครศรีอยุธยา เห็นว่า ทุนทางวัฒนธรรมเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชน จึงได้ทำการสำรวจ ต้นแบบผ้าลายอย่างจากสถานที่แห่งหนึ่งที่จัดเป็นUnseen ของอยุธยาได้เลย คือ วัดย่านอ่างทอง หรืออีกชื่อหนึ่งว่า วัดจุฬาโลก วัดนี้มีของดีหลายอย่างแต่มีสิ่งหนึ่งที่เราพบคือ ผ้าลายอย่างที่ใช้ห่อคัมภีร์อยู่ในตู้พระธรรมของวัดจำนวนหนึ่ง และคิดว่าผ้าลายอย่างสามารถนำมาต่อได้ โดยใช้การทำงานตามแบบศาสตร์พระราชา มีกระบวนการศึกษา สีบสานและกระบวนการสร้างสรรค์
ผ้าลายจุฬาพัสตร์เกิดขึ้นจาก โครงการฟื้นฟูและต่อยอดผ้าลายอย่างเอกลักษณ์อยุธยา “จุฬาพัสตร์” สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นผลงานจากโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มีการค้นคว้า วิจัยและศึกษาลวดลายจากต้นแบบผ้าลายอย่างที่ใช้ห่อคัมภีร์ ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ในตู้พระธรรมของวัดย่านอ่างทอง (จุฬาโลก) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยนำมาฟื้นฟูและยกระดับให้เป็นผ้าลายที่มีความร่วมสมัย ร่วมกับกระบวนการศึกษา วิจัยทางประวัติศาสตร์ นำไปสู่การฟื้นฟูผ้าลายอย่างที่ยังคงอัตลักษณ์ของลายผ้าโบราณ ทั้งด้านลวดลาย โครงสร้าง และเอกลักษณ์ของชุมชน นำมาประกอบให้เป็นผืนผ้าที่มีความสมบูรณ์ทั้งลวดลายที่ประณีต สีใกล้เคียงผ้าต้นแบบ ผสมผสานด้วยกระบวนการพิมพ์สมัยใหม่ ต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความร่วมสมัย แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์จากภูมิปัญญาของชุมชนตามกลไกของเศรษฐกิจสร้างสรรค์