Last updated: 15 ส.ค. 2566 | 1427 จำนวนผู้เข้าชม |
ใครจะไปเชื่อว่าขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาต่อมนุษย์จะสามารถกลับมาทำให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้
"นวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุน" ถือเป็นหนึ่งในผลผลิตของ “โครงการการมีส่วนร่วมเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อความยั่งยืนของประเทศ เพิ่มคุณภาพชีวิต เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนโครงการวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) โดยการนำขยะพลาสติกที่ยังมีประโยชน์แต่ไม่สามารถจำหน่ายต่อไปยังเอกชนได้ เช่น พลาสติกโคมไฟหน้ารถ รองเท้ายางที่ถูกทิ้งตามริมชายหาดและถุงน้ำยาล้างไต มาสร้างเป็น “นวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะพลาสติก” ซึ่งเป็นการลดปริมาณขยะพลาสติก แล้วยังเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับชุมชน ที่สำคัญมีประโยชน์ด้านความปลอดภัยของทหาร สร้างความมั่นคงให้กับประเทศอีกด้วย
งานวิจัย บวกพลังความสามัคคี นำไปสู่นว้ตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนที่มีคุณภาพ
ด้วยแนวคิดบวกกับพลังศรัทธาในการทำงานวิจัย ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ รศ.ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยนเรศวรและคณะสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าว โดยอาจารย์ เล่าว่า “งานวิจัยนี้เป็นกระบวนการคิดจากนวัตกรรมทางสังคมเนื่องจากปัญหาเรื่องปริมาณขยะที่เยอะมาก โดยเฉพาะขยะที่ทำจากพลาสติก ซึ่งตอนที่ทำครั้งแรกยังไม่รู้จะได้นวัตกรรมอะไรร่วมกันแต่ได้อาศัยกระบวนการมีส่วนร่วม โดยศึกษาพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการขยะที่ดีอยู่แล้ว คือตำบลบ้านคลอง จ. พิษณุโลก การมีส่วนร่วมจากคนในชุมชนฯ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ค่ายทหารสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากเจ้าหน้าที่ภายในกองทัพ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในกระบวนการมีส่วนร่วม มีทหารทีมหนึ่งเปรยขึ้นมาว่า ถ้าทำเกราะป้องกันกระสุนได้จะดีมากเลยครับอาจารย์ เพราะพลาสติกจะเบา เนื่องจากที่ใช้อยู่จะหนักมาก ก็เลยเป็นที่มาของการตั้งต้นจากโจทย์ตรงนี้“
งานวิจัยนี้ก็ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) เป็นงานวิจัยที่ตอบโจทย์สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยทำในระยะเวลาจำกัดเพียง 7 เดือน ทุกอย่างดำเนินมาตามขั้นตอนมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนกับนักวิจัยจนในที่สุดก็ได้เสื้อเกราะกันกระสุนที่ผลิตจากขยะพลาสติกจำนวน 5 ชิ้น ซึ่งหลังจากทดสอบแล้วมีจำนวน 2 ชิ้นที่ผ่านการทดลองด้วยการยิงไม่ทะลุ แล้วนำมาพัฒนาต่อ โดยต้องใช้ขยะจำนวนมาก มีวัตถุดิบหลักคือ โคมไฟหน้ารถ ซึ่งเป็นพีวีซีที่ดีแข็งแรงและรับแรงกระแทกได้สูง ประกอบกับภาคเอกชนในพื้นที่มีขยะดังกล่าวเป็นจำนวนมากและยังไม่รู้ว่าจะเอาไปทำประโยชน์อะไร รวมถึงมีขยะรองเท้ายางที่ถูกทิ้งตามริมชายหาดและถุงน้ำยาล้างไตที่มีอยู่จำนวนมากตามโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งสามารถนำไปทำเป็นวัสดุดูดซับแรงได้ดี
ขยะพลาสติกสู่นวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุน มีน้ำหนักเบา ประสิทธิภาพดี จากขยะพลาสติกที่ไร้ค่าสู่การเสื้อเกราะกันกระสุนนี้ทดสอบแล้วว่าสามารถป้องกันการทะลุทะลวงของกระสุนปืนขนาด 9 มม. และ 11 มม. ในระยะการยิงที่ 5 เมตร 7 เมตร 10 เมตร และ 25 เมตร ได้เป็นอย่างดี
นวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนที่ผลิตมาจากขยะพลาสติกผลงานของ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งการวิจัยเสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะพลาสติกถือเป็นต้นแบบในการลดขยะพลาสติก ที่จะนำไปสู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพในการป้องกันภัยได้ ราคาถูก เข้าถึงได้ง่าย. และในอนาคตทีมนักวิจัยจะมีการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมนี้ให้ตอบสนองต่อความต้องการและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และนี่คือสัญลักษณ์ของนวัตกรรมจากขยะที่ไร้ค่าสู่มูลค่าทางสังคม