สภาอุตสาหกรรมฯ ร่วม 3 สมาคม และเมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย โชว์เทรนด์ "นวัตกรรมด้านงานพิมพ์"

Last updated: 30 ส.ค. 2566  |  295 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สภาอุตสาหกรรมฯ ร่วม 3 สมาคม และเมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย โชว์เทรนด์ "นวัตกรรมด้านงานพิมพ์"

สภาอุตฯ ร่วม 3 สมาคม และเมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย โชว์เทรนด์นวัตกรรมด้านงานพิมพ์ ในงาน Pack Print International 2023 และ Corrutec Asia 2023

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย สมาคมการพิมพ์ไทย สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย สมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย ผนึก บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย โชว์ความพร้อมการจัดงาน Pack Print International 2023 และ Corrutec Asia 2023” หรือ งานมหกรรมแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์การพิมพ์ครั้งที่ 9 และกระดาษลูกฟูกแห่งภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 2 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 - 23 กันยายน 2566 ตอกย้ำความแข็งแกร่งและฉายศักยภาพการเป็นผู้นำด้านการผลิตที่โดดเด่นที่สุดในอาเซียน เพื่อเปิดโลกอนาคตแห่งนวัตกรรมสุดล้ำ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Economy) บรรจุภัณฑ์พรีเมียม (Premium Design) เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัย (Safety & Security) และบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Sustainability) เป็นต้น พร้อมชูกลยุทธ์ส่งเสริมความยั่งยืนของทั้ง 3 ภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์กับแนวคิดเชื่อมโยงระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์กับโลกดิจิทัล อุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์ที่พร้อมผลักดันด้านเทคโนโลยีเพื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์ฟังชันก์สุดล้ำ และบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกที่ชูโซลูชั่นต่อยอดความยั่งยืนระยะยาวด้วยแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เชื่อมั่นอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ปี 67 เติบโตขึ้น 10%

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2566 มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ยุคดิจิตอล ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคอุตสาหกรรมไทยทั้งในปีนี้และปีถัดไปเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในภาคการพิมพ์ และการบรรจุภัณฑ์ ที่ทางสภาอุตสากรรมฯ ให้ความสำคัญและผลักดันมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและมีโซลูชั่นในการซัพพอร์ตกระบวนการผลิตของหลากหลายภาคธุรกิจบริการที่มีมูลค่าสูงในปัจจุบัน และนับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมูลค่าของอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์มีการเติบโตขึ้นราว 5 % มูลค่าตลาดโดยรวมอยู่ประมาณ 350,000 ล้านบาท แบ่งเป็นอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ 60% อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ 40%และคาดการณ์ปี 2567 จะเติบโตขึ้นอีกกว่า 10%

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรม จึงมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในภาวะการณ์การเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ จึงมีการเน้นย้ำและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อรองรับการผลิตเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มโอกาสการแข่งขัน ศักยภาพ และสร้างโอกาสในการเติบโตในการขยับขยายธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ พร้อมตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ผันเปลี่ยนไปตามรูปแบบการใช้ชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต

“ประเทศไทยมีความโดดเด่นด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นฐานผลิตใหญ่ที่มีเสถียรภาพอันแข็งแกร่ง ทั้งนี้สภาอุตสาหกรรมฯ เตรียมเดินหน้าเร่งพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตรายใหญ่ และรายย่อย รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพในประเทศไทย ด้วยการเสริมสร้างโอกาสความร่วมมือในการลงทุนและการส่งออกไปในทั่วทุกภูมิภาคทั่วโลก เพื่อผลักดันและขยายฐานของภาคอุตสาหกรรมฯ ก้าวสู่เวทีการแข่งขันและชิงส่วนแบ่งการตลาดในระดับโลกต่อไป” นายเกรียงไกร กล่าวสรุป

ด้านนายเกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการบริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า ปัจจุบันเมกะเทรนด์ที่ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน ผ่านการสนับสนุนสินค้ารักษ์โลกกันมากขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ที่มุ่งดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้วัสดุที่ปลอดภัย การพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก และแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้อนาคตอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เติบโตมากยิ่งขึ้น และเพื่อตอกย้ำถึงศักยภาพของประเทศไทยที่เป็นผู้นำและฐานผลิตที่โดดเด่นที่สุดในภูมิภาคอาเซียนของทั้ง 3 อุตสาหกรรม จึงได้มีการเดินหน้าจัด งานมหกรรมแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์การพิมพ์ และกระดาษลูกฟูกแห่งภูมิภาคเอเชีย หรือ “Pack Print International 2023 and Corrutec Asia 2023” เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องจัดแสดงนวัตกรรมด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ที่ล้ำสมัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยีใหม่ เพื่อนำไปต่อยอดทางธุรกิจ ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันระดับสากลในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวในปัจจุบันต่อไป

นายเกอร์นอท กล่าวต่อว่า Pack Print International 2023 and Corrutec Asia 2023 มหกรรมแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์การพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ยังได้ผนึกกำลังจัดร่วมกับพันธมิตรด้านอุตสาหกรรมชั้นนำเช่น T-PLAS, wire and Tube Southeast Asia, GIFA และ METEC Southeast Asia

“ผู้ร่วมงานจะได้พบกับนวัตกรรมจากผู้ผลิตเทคโนโลยีรวมกว่า 300 บริษัทชั้นนำ จาก 20 ประเทศทั่วโลก อาทิ จีน อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และไทย เป็นต้น ที่จะมาจัดแสดงนวัตกรรมล้ำสมัย พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน ภายใต้คอนเซ็ปต์ Defining packaging & printing in Asia โดยในมีไฮไลต์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับเทรนด์โลก ตลอดจนการจัดหาวัตถุดิบที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ครอบคลุมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Economy) บรรจุภัณฑ์พรีเมียม (Premium Design) เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัย (Safety & Security) และบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Sustainability) โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซลูชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โซลูชั่นบรรจุภัณฑ์จากพืชและไฟเบอร์ และอื่นๆอีกมากมาย” นายเกอร์นอท กล่าวสรุป

นายพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช นายกสมาคมการพิมพ์ไทย กล่าวว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยในปัจจุบันพบว่ายังคงมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีบทบาทเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเติบโตไปตาม GDP ของประเทศ คิดเป็น 1.8% หรือมีมูลค่าอยู่ประมาณ 350,000 ล้านบาท แบ่งเป็นอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ 60% อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ 40% ด้วยศักยภาพที่โดดเด่นด้านการเป็นศูนย์กลางการผลิตขนาดใหญ่ของ AEC ที่มีเสถียรภาพและมีเทคโนโลยีการพิมพ์ขั้นสูงเทียบเท่าระดับสากล นอกจากนี้อุตสาหกรรมการพิมพ์ในไทยยังถือเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) ให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ตลอดจนปัจจัยหนุนจากการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซซึ่งเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ทั้งนี้เพื่อให้อุตสาหกรรมการพิมพ์ในประเทศไทยเติบโตได้มั่นคง ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับกระบวนทัศน์ให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์เข้ากับโลกดิจิทัล รวมถึงให้ความสำคัญต่อแนวทางความยั่งยืนและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการ เพื่อให้ธุรกิจการพิมพ์ยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางความท้าทายของโลก

“แนวทางเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ท่ามกลางดิจิทัลดิสรัปชันในด้านเทคโนโลยี จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนา เรียนรู้ และปรับกระบวนทัศน์ให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์เข้ากับโลกดิจิทัล เพื่อรองรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ด้านสิ่งพิมพ์ที่สร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ๆและทันสมัย จึงส่งเสริมให้มีการนำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาชิ้นงานให้ตอบโจทย์ความต้องการที่มากขึ้น อาทิ การพิมพ์ QR code การพิมพ์ฉลากบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบ Smart label ที่เชื่อมโยงกับ Digital Data ช่วยให้ผู้บริโภครับรู้ข้อมูลสินค้าได้ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด เป็นต้น” นายพงศ์ธีระ กล่าวสรุป

ขณะที่นายประเสริฐ หล่อยืนยง นายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังอุตสาหกรมบรรจุภัณฑ์ยังคงมีการปรับตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว มีกำลังการผลิตที่สามารถรองรับกลไกของตลาด และพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อสอดรับกับเทรนด์โลกในเนื่องจากบรรจุภัณฑ์ต่างๆ มีบทบาทสำคัญในการรองรับกระบวนการผลิตทั้งในธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม การท่องเที่ยว และการส่งออก ทั้งนี้ทางสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทยยังมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่ง เพื่อร่วมกันผลักดันที่จะขยายตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ ที่จะคว้าโอกาสในการเป็นผู้นำและเป็นฐานการผลิตให้ยิ่งใหญ่ สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครัวของโลก โดยในปีที่ผ่านมามีการขยายตัว 4.0% มีมูลค่าราว 6.69 แสนล้านบาทและคาดว่าแนวโน้มตลาดบรรจุภัณฑ์ในปีต่อไปจะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องราว 10% ส่งผลให้มีมูลค่าตลาดสูงถึง 7.35 แสนล้านบาท

“ปีนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ผลิตทั้งรายใหญ่และรายย่อย ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตเพื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ตอบรับกับความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ท่ามกลางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวัน ไลฟ์สไตล์ รวมถึงเทรนด์ผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่มองหาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณค่า มีความสะดวกในการใช้งาน ความปลอดภัย และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตจึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพการผลิตเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดบรรจุภัณฑ์ ด้วยการสร้างบรรจุภัณฑ์ที่มีความทันสมัย มีความความแตกต่าง สร้างสรรค์ เพื่อดึงดูดให้เกิดความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น” นายประเสริฐ กล่าว

พร้อมกันนี้ นายชูศักดิ์ ดีตระกูลวัฒนผล นายกสมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมลูกฟูกไทยในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีการเติบโตจากการปรับตัวตามแรงหนุนของดีมานด์จากหลากหลายภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจอีคอมเมิร์ซและธุรกิจที่รองรับการขนส่งสินค้า ซึ่งจากการเติบโตส่งผลให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่องพัสดุเพื่อบรรจุสินค้าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยทั้งจากผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อสอดรับกับการเติบโตและตอบโจทย์ความต้องการ ผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมลูกฟูกไทยทั้งรายใหญ่และรายย่อยจึงต้องเร่งพัฒนาและนำเข้าเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อยกระดับศักยภาพการผลิตที่ได้มาตรฐาน ทั้งด้านกระบวนการผลิตที่ทรงประสิทธิภาพ มีความรวดเร็ว และใช้นวัตกรรมสำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คาดการณ์ว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทยจะมีการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3% ต่อปี ตามสภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

“สำหรับแนวทางเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกระดาษลูกฟูกในปีนี้ ทางสมาคมฯได้มีการวางโซลูชั่นและแนวทางที่เหมาะสมเพื่อนำมาต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนระยาว ด้วยการสนับสนุนและผลักดันให้ผู้ผลิตหันมาให้ความสำคัญกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ ESG (Environment Social Governance) การลดใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ และการลงทุนติดตั้งเครื่องจักรเพื่อลดการใช้พลังงาน โดยเปลี่ยนจากการใช้มอเตอร์ธรรมดาเป็นเซอร์โวมอเตอร์ รวมถึงพัฒนาการใช้ระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด ด้วยการผลิตบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่สามารถ รีไซเคิลนำมากลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงมีการนำร่องวางระบบการหมุนเวียนเศษกระดาษที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิต นำมาประกอบเป็นเศษอัดก้อน และนำส่งคืนสู่โรงงานผู้ผลิตกระดาษต่อไป” นายชูศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้