NIA โชว์ดัชนีนวัตกรรมโลกของไทย ดีที่สุดเท่าที่มีมา หลังขยับสู่อันดับ 41 พร้อมพัฒนาระบบนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนไทยสู่ชาตินวัตกรรม

Last updated: 29 ก.ย. 2567  |  70 จำนวนผู้เข้าชม  | 

NIA โชว์ดัชนีนวัตกรรมโลกของไทย ดีที่สุดเท่าที่มีมา หลังขยับสู่อันดับ 41 พร้อมพัฒนาระบบนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนไทยสู่ชาตินวัตกรรม

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกประจำปี 2567 (Global Innovation Index 2024 หรือ GII 2024) ภายใต้ธีม “ปลดล๊อกศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อสังคม” (Unlocking the Promise of Social Entrepreneurship) ซึ่งจัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เพื่อวัดระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของ 133 ประเทศทั่วโลก โดยในปีนี้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 41 ขยับดีขึ้น 2 อันดับจากปีก่อนหน้า พร้อมเปิดเวทีเสวนา“การพัฒนาระบบนวัตกรรมและการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ชาตินวัตกรรม” ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) องค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา กรมทรัพย์สินทางปัญญา และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)


ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า การจัดอันดับดัชนี GII ในปีนี้ให้ความสำคัญกับประเด็นการปลดล็อกศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อสังคม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระแสการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ประกอบการเพื่อสังคมจำนวนมากที่กำลังค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาสังคมที่สำคัญด้วยนวัตกรรม ซึ่งการศึกษาเรื่องนี้ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายนวัตกรรมและโครงการสนับสนุนด้านนวัตกรรมสามารถขยายและปรับปรุงโครงการของผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่สามารถขยายขอบเขตการดำเนินงาน เพื่อสร้างผลกระทบในวงกว้างที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


ในปีนี้นับเป็นข่าวดีของวงการนวัตกรรมไทยที่ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2567 หรือ GII 2024 ประเทศไทยขยับดีขึ้นมาอยู่อันดับ 41 ด้วยคะแนน 36.9 (เดิมอันดับ 43) โดยประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นทั้งปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input sub-index) ขยับดีขึ้นมาอยู่อันดับ 41 (เดิมอันดับ 44) และปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) ขยับดีขึ้นมาอยู่อันดับ 39 อันดับ (เดิมอันดับ 43) ซึ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพของปัจจัยนำเข้าทางนวัตกรรมที่สามารถสร้างผลผลิตทางนวัตกรรมได้ออกมามากกว่าปัจจัยนำเข้าที่ใส่ลงไปเพื่อพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรม 


ทั้งนี้ ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าที่คาดหวังตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยมีพัฒนาการด้านนวัตกรรมดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน (Upper middle-income economies) ในทุกปัจจัย เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบนจำนวน 34 ประเทศ เช่นเดียวกันในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 จากจำนวน 17 ประเทศ และยังคงอยู่อันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเกือบทุกประเทศในอาเซียนมีอันดับดัชนี GII ดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียที่ก้าวกระโดดสูงขึ้น 7 อันดับ อยู่อันดับที่ 54 เวียดนามดีขึ้น 2 อันดับ อยู่อันดับที่ 44 และประเทศมาเลเซียดีขึ้น 3 อันดับ อยู่อันดับที่ 33”

 ดร. กริชผกา กล่าวสรุปอีกว่า   เมื่อพิจารณาความสามารถทางด้านนวัตกรรมของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ทั้ง 7 ปัจจัย ประเทศไทยมีอันดับความสามารถด้านนวัตกรรมเพิ่มขึ้นในเกือบทุกปัจจัยจากปีที่แล้ว โดยเฉพาะปัจจัยด้านระบบธุรกิจ (Business Sophistication) ขยับดีขึ้น 2 อันดับ อยู่อันดับที่ 41 โดยตัวชี้วัดสัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาที่ลงทุนโดยองค์กรธุรกิจต่าง ๆ (GERD financed by business) ประเทศไทยยังคงครองอันดับที่ 1 ติดต่อกัน 5 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง


“อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในวันนี้คือ การมารวมตัวกันของเครือข่ายพันธมิตรที่จะร่วมเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นชาตินวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยได้ร่วมแลกเปลี่ยนเสวนา “การพัฒนาระบบนวัตกรรมและการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ชาตินวัตกรรม” ประกอบด้วย NIA สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP) กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) และได้รับเกียรติจากผู้แทนองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) มาเข้าร่วมออนไลน์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมและให้ความสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาด้านวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญา และการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านนโยบาย ภารกิจ และโครงการสำคัญของแต่ละหน่วยงาน ดังนั้น กิจกรรมวันนี้ถือเป็นสารตั้งต้นสำหรับความร่วมมือที่จะตามมาระหว่างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อให้เกิดการยกระดับนวัตกรรมอย่างครอบคลุมและเป็นระบบ สอดคล้องกับแนวทางของดัชนีนวัตกรรมโลก (GII) เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ชาตินวัตกรรม” 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้