Last updated: 18 มี.ค. 2568 | 47 จำนวนผู้เข้าชม |
การสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2568 จะเป็นการเก็บข้อมูลประชากรของประเทศไทยรอบ 10 ปี โดยใช้ รูปแบบดิจิทัลเป็นครั้งแรก (Digital Census) และข้อความสั้น (SMS) ผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1. เว็บไซต์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 2. แอปพลิเคชันทางรัฐ 3. เว็บไซต์ทางรัฐ ควบคู่กับการสำรวจภาคสนามผ่านเครือข่ายบุรุษไปรษณีย์ภายใต้โครงการ “Postman Cloud” สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกตอบแบบสอบถามออนไลน์
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากร เป็นข้อมูลสำคัญที่ภาครัฐใช้เพื่อบริหารงานนโยบายต่าง ๆ และกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศ รัฐบาลโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงดำเนินโครงการสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะ โดยมอบหมายให้ไปรษณีย์ไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวง ดศ. ใช้ความเชี่ยวชาญและใกล้ชิดของเครือข่ายบุรุษไปรษณีย์ มาช่วยในการเก็บข้อมูลและสนับสนุนขับเคลื่อนให้โครงการสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่กำหนด
“รัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เชื่อมั่นว่าการสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะในปีนี้จะมีความแม่นยำขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมาอย่างมาก โดยการสำรวจจะมีทั้งรูปแบบสำมะโนแบบดิจิทัล (Digital Census) รูปแบบข้อความสั้น SMS รวมทั้งยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับคนไทยอย่างไปรษณีย์ไทยที่จะมาสนับสนุนเติมเต็มการสำรวจในกลุ่มของประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงการตอบแบบสอบถามบนช่องทางดิจิทัลด้วยความสัมพันธ์ที่ดีของบุรุษไปรษณีย์กับพี่น้องประชาชน จะทำให้ได้รับความไว้วางใจในการร่วมตอบแบบสอบถาม เพื่อนำข้อมูลมาช่วยสร้างพลังขับเคลื่อนประเทศในรูปแบบนโยบาย รวมถึงการปฏิบัติงานเชิงรุกในอนาคตเหมาะกับบริบทประชากรไทยที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย”
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทย พร้อมสนองนโยบายรัฐบาลและกระทรวง ดศ. ในการดำเนินโครงการสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2568 โดยไปรษณีย์ไทยจะมีบทบาทในการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล ด้วยการเก็บแบบสอบถามจากประชาชนที่ไม่สะดวกตอบ ด้วยตนเองผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อให้ข้อมูลครบถ้วนตามหลักการและแนวคิดของการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ ผ่าน “Postman Cloud” เครือข่ายบุรุษไปรษณีย์ หรือพี่ไปรฯ ที่มีความชำนาญและเข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โครงการจะเริ่มในเดือนเมษายน 2568 ครอบคลุม 11 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด เชียงใหม่นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และสงขลารวมกว่า 4 ล้านครัวเรือน ไปรษณีย์ไทยรับหน้าที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากประชาชน พร้อมส่งเสริมการรับรู้ถึงความสำคัญของโครงการ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและแม่นยำ นำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป
ด้านนางสาวนงลักษณ์ โงวิวัฒน์ชัย. ผอ.กองสถิติสังคม กล่าวถึง การสำรวจประชากรในประเทศไทยมีความสำคัญเพื่อการจัดการสาธารณูปโภคและบริการต่างๆ ให้เหมาะสมกับจำนวนประชากรที่แท้จริง โดยการสำรวจจะทำทุก 10 ปีตามคำแนะนำของสหประชาชาติ ล่าสุดควรทำในปี 2563 แต่ถูกเลื่อนออกไปเพราะโควิด-19 ครั้งนี้เริ่มตั้งแต่1 -20 เมษายน 2568และ 21 เมษา จนถึง 19มิถุนายน เผื่อเวลาไว้ด้วย ซึ่งตามมาตรฐานจะกําหนดเวลาแค่เดือนเดียว แต่เราก็รู้ว่าสภาพดินฟ้าอากาศ และอุปสรรคต่าง ๆ เราก็เลยทําภาพให้ยาวขึ้นอีกนิดนึง ในปีนี้จะใช้แอปพลิเคชันออนไลน์ให้ประชาชนกรอกข้อมูลเอง และเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีที่ไม่สะดวกใช้เทคโนโลยี การสำรวจในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ เช่น ชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น มักจะพบความท้าทายในพื้นที่ที่มีอุปสรรค เช่น คอนโดมิเนียมหรือหมู่บ้านที่มีระบบรักษาความปลอดภัย จึงใช้เทคนิคทางสถิติเพื่อประมาณการข้อมูลจากพื้นที่เหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้จะนำไปใช้ ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ เช่นการกำหนด infrastructure ของแต่ละพื้นที่