Last updated: 21 ธ.ค. 2565 | 326 จำนวนผู้เข้าชม |
วันที่ 19 ธันวาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เนคเทค สวทช. จัดการแข่งขัน IoT Hackathon 2022 ครั้งที่ 3 Gen R (Data Analytics for ERP-Integrated Factory 4.0) ในโครงการ “การพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) แบบเข้มข้นสำหรับการพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19-21 ธันวาคม 2565 ระยะเวลา 36 ชั่วโมง ผู้เข้าแข่งขันจะพบกับโจทย์จริงจากโรงงาน โดยต้องงัดเอาองค์ความรู้แบบ Outcome-Based Learning และทักษะที่ผ่านการอบรมมาใช้แก้ไขปัญหา เพื่อจะมั่นใจว่า “ทำได้ ทำเป็น”ก่อนเข้าสู่การทำงานจริงในสถานประกอบการ นำร่องพื้นที่ภาคตะวันออก(EEC) คาดนำหลักสูตรไปพัฒนาสู่การเป็นวิทยาลัยต้นแบบอาชีวศึกษาในอนาคต
ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการ EECi กล่าวว่า การจัดการแข่งขันในครั้งนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) ให้แก่บุคลากรด้านอาชีวศึกษา การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจ 4 ด้านของ สวทช. ซึ่ง สวทช. มองเห็นความสำคัญของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถือเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญมากในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวิสัยทัศน์และกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ดังนั้น สวทช. โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และในฐานะผู้รับผิดชอบในการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi จึงได้เข้ามาดำเนินงานด้านการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเตรียมบุคลากรขั้นพื้นฐานให้มีความสนใจในการเข้าสู่เส้นทางอาชีพนักวิจัยและนักเทคโนโลยีในอนาคต รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนา EECi ให้เป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ สำหรับเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ขณะนี้ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านนวตกรรมใน EECi โดยตั้งเป้าไว้ 3 ด้าน ด้านแรกเป็นการเพิ่มมูลค่าภาคการเกษตร ด้านที่2 การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลขั้นสูง ด้านที่ 3 สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ของประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก
ด้าน ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า การแข่งขัน IoT Hackathon Gen R ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เป็นการแข่งขันที่ส่งเสริมทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) สำหรับเด็กอาชีวศึกษาระดับ ปวส. ดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนจากเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะภาคปฏิบัติที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) และ Industrial IoT ผ่านกิจกรรมการอบรมครูและนักศึกษาระดับ ปวส. ของสถาบันอาชีวศึกษาในเขตพื้นที่ EEC โดยเน้นนักศึกษาระดับ ปวส. ชั้นปีที่ 1 ที่ต้องไปฝึกงานในสถานประกอบการในปีถัดไป เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ที่ได้ในโครงการไปประยุกต์ใช้ในสถานประกอบการ หลักสูตรและวิธีการอบรมจึงเน้นการเรียนรู้แบบ Outcome-Based Learning หรือการเรียนรู้ที่มีเป้าหมายเป็นรูปธรรม แทนการเรียนรู้องค์ความรู้พื้นฐานแบบครอบจักรวาลแบบเผื่อให้เลือกใช้ มีการวัดผลผู้เรียนแบบเป็นระยะ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เรียนสามารถ “ทำได้ ทำเป็น”ก่อนส่งผู้เรียนเข้าสู่การฝึกงานแบบ Work-Based Integration ในภาคอุตสาหกรรม โดยโครงการฯ จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อนำผลตอบรับมาปรับปรุงวิธีการและเนื้อหาการอบรมในปีต่อไป
ในปีนี้โครงการยังได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรอีก 2 ฝ่ายคือ วิทยาลัยอาชีวศึกษาในเขต EEC 16 แห่ง และ บริษัทผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่ ได้ช่วยกันพัฒนาหลักสูตร IoT และ IIoT ที่จะนำไปบูรณาการเข้ากับวิชาต่างๆ ในวิทยาลัยอาชีวศึกษา เพื่อให้สามารถสร้างกำลังคนที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง ที่ผ่านมาทางโครงการฯได้รับทุนสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยปีแรก (2564) จัดทำหลักสูตรพื้นฐาน Internet of Things & IoT Training Kits จัดอบรมออนไลน์ ให้แก่ อาจารย์ 30 คน มุ่งเน้นให้ครูเป็น Train the Trainer และนักศึกษา 71 คน มีนักศึกษาผ่านการคัดเลือกเข้าฝึกงานในสถานประกอบการ จำนวน 38 คน ปีที่ 2 (ปี 2565) ทางโครงการฯ ได้พัฒนาหลักสูตรที่สามารถบูรณาการกับภาคอุตสาหกรรม เช่น Maintenance, Process Line Monitoring, Quality Control อีกทั้งยังเสริมเรื่องการใช้งาน API และเพิ่มทักษะของ Developer โดยมีนักศึกษาสมัครเข้าร่วมการอบรม IoT พื้นฐาน 107 คน และผ่านการคัดเลือกให้อบรม IIoT ขั้นสูง 75 คน ผ่านการคัดเลือกฝึกงานในสถานประกอบการ จำนวน 41 คน และในปีสุดท้าย (ปี 66) ปีนี้ ทางโครงการฯ ได้ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร IoT และ IIoT ที่มีความเหมาะสมกับการพัฒนาเด็กอาชีวะศึกษาเข้าไปทำงานกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม โดยในปีนี้มีนักศึกษาที่ผ่านการอบรมพื้นฐาน เข้ารวม 245 คน ผ่านการคัดเลือกให้อบรม IIoT ขั้นสูง 69 คน คัดเลือกรอบสุดท้ายเพื่อเข้าร่วมแข่งขัน และให้สถานประกอบการมาคัดเลือก 48 คน
ผลการตอบรับจากการดำเนินโครงการ 3 ปี ที่ผ่านมา วิทยาลัยอาชีวศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออก(EEC) เริ่มนำหลักสูตร IoT Fundamentals เข้าไปสอนในสาขาต่างๆ ของวิทยาลัย และจากการติดตามผลการฝึกงานของนักศึกษา ที่ผ่านมา มีสัดส่วนของนักศึกษาที่บริษัทเข้ารับทำงานต่อกว่า 54% ในปีแรก และ 76% ในปีที่สอง
และปีนี้ทราบว่าจะมีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจะร่วมมาออกบูธ เพื่อรับนักศึกษาเข้าฝึกงานไม่ต่ำกว่า 15 บริษัท และทางโครงการฯ ได้จัดเตรียมชุดอุปกรณ์ฝึกอบรมทางด้าน Industrial IoT เพื่อส่งมอบให้วิทยาลัยที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นระยะเวลาต่อเนื่องของโครงการฯไม่น้อยกว่า 70 % เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาใช้จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
สำหรับโครงการนี้ นาย ปิยวัฒน์ จอมสถาน หัวหน้าโครงการพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) แบบเข้มข้นสำหรับการพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา ให้ข้อมูลว่า การจัดการแข่งขันในครั้งนี้เป็นการเลือกใช้เทคโนโลที่มีต้นทุนต่ำคือ lot ซึ่งมีการอบรม 2 หลักสูตร lot แบบธรรมดาซึ่งเป็นพื้นฐานของโปรแกรมที่ผู้อบรมต้องเขียนและอ่านโค้ดได้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยหัวใจสำคัญของหลักสูตรคือการให้เครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมสามารถดึงข้อมูลและเชื่อมต่อในโลกอินเตอร์เน็ตได้นี่คือหลักสูตร Industrial Internet of Things (IIoT) เพื่อตอบโจทย์การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม 4.0 ช่วยปรับปรุงการเชื่อมต่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร ยืดหยุ่น ประหยัดเวลา และประหยัดค่าใช้จ่ายในการวางแผนการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทที่มีความพร้อม เริ่มได้รับประโยชน์จาก IIoT ในการลดต้นทุนการผลิตจากการบำรุงรักษาที่คาดการณ์ล่วงหน้า (Predictive maintenance) การตรวจสถานะของเครื่องจักร (Monitor) และหลีกเลี่ยงการ Downtime ของระบบเพิ่มความปลอดภัยและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานในส่วนอื่นได้ดียิ่งขึ้น
ดังนั้น การแข่งขันครั้งนี้จึงเป็นการทดสอบว่าเมื่อนักศึกษาผ่านการอบรมแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมได้หรือไม่