Last updated: 30 มี.ค. 2568 | 64 จำนวนผู้เข้าชม |
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำไมอุตสาหกรรมความงามจึงมีมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ทั่วโลก ครอบคลุมสินค้าและบริการ เช่น เครื่องสำอาง สกินแคร์ ศัลยกรรมความงาม และบริการเสริมความงาม เพราะความต้องการในการดูแลตนเองยังคงเป็นสิ่งที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลก ดูได้จากงานวิจัยจะพบว่า คนที่ถูกมองว่าสวยหรือดูดีมักได้รับโอกาสทางสังคมมากกว่า ดังนั้น การแพทย์และเทคโนโลยีความงาม: การพัฒนานวัตกรรม เช่น การเลเซอร์ คอลลาเจน หรือผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ทำให้คนสามารถดูแลความงามได้ง่ายขึ้น
ในงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2568หรือ (NAC2025) ที่จัดขึ้นทุกปี ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดยแพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน (FoodSERP) และ สมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย (TCOS) นำเสนอตัวอย่างซึ่งได้ลงนามความร่วมมือไปเมื่อ ตุลาคม 2566ในการพัฒนานวัตกรรมเครื่องสำอางจาก ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ไทย (Rice Biome) โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรชีวภาพของประเทศ
FoodSERP ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมความงามไทย
ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สวทช. เปิดเผยว่า FoodSERP มีพันธกิจในการให้บริการวิจัยและนวัตกรรม การให้บริการการผลิตภายใต้มาตรฐานสากล รวมถึงการวิเคราะห์และทดสอบอาหาร เครื่องสำอาง และส่วนผสมฟังก์ชัน ตามความต้องการเฉพาะของลูกค้าแบบครบวงจร (One-Stop Service)
“สำหรับการวิจัยพัฒนาในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จจากความร่วมมือกับ TCOS ที่เราต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยอาศัยเทคโนโลยีการใช้จุลินทรีย์ ซึ่งเรามีคลังจุลินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน อันดับที่ 8 ของโลก เราจึงมองเห็นโอกาสในการคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่จะมาตอบโจทย์งานวิจัยที่สามารถออกฤทธิ์ทางชีวภาพและนำมาพัฒนาผ่านกระบวนการผลิตที่เราเรียกว่า กระบวนการผลิตอย่างแม่นยำ (Precision Fermentation) โดยเน้นตัวสารที่มีความปลอดภัยและตอบโจทย์ความยั่งยืน
ความสำเร็จครั้งสำคัญนี้ จึงเป็นความท้าทายของนักวิจัยที่จะพัฒนาผลงานการวิจัยผ่านกระบวนการผลิตโดยนำวัตถุดิบจากธรรมชาติ สารประกอบฟังก์ชันจากข้าวหอมมะลิอินทรีย์ไทย (Rice Biome) ผ่าน เทคโนโลยีการหมักแบบแม่นยำ (Precision Fermentation) ผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Technology) และยังเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบจากข้าวไทย ที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของโลก หาง่ายในท้องตลาดและไม่มีปัญหาในเรื่อง Suppy Chain และยังเป็นเทรนด์ของตลาดโลก ได้สารสกัดจากข้าวภายใต้เครื่องหมายการค้า “ARAMARA” ซึ่งกลายเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับเวชสำอาง อาทิ โลชันและเอสเซนส์ ช่วยเสริมมูลค่าการใช้ข้าวไทยในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
ตลาดความงามและสุขภาพเติบโตอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบข้าวไทย เราใช้เทคโนโลยีหมักแม่นยำ ซึ่งเป็นเทรนด์ของตลาดโลก เพื่อสร้างส่วนผสมฟังก์ชันสำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ซึ่งช่วยผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล”
ในอนคตFoodSERP ยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ออกมาเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้ที่หันมาดูแลสุขภาพความงามแบบองค์รวมโดยใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากขึ้น
TCOS หนุนเครื่องสำอางไทยแข่งตลาดโลก
ดร.ธนธรรศ สนธีระ อุปนายกสมาคม TCOS และกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม เนเชอรัล โปรดักซ์ จำกัด ระบุว่า “ARAMARA” เป็นสารสกัดจาก ข้าวหอมมะลิอินทรีย์และต้นข้าวอ่อนหมัก (Rice Ferment Filtrate) ที่ผลิตด้วย เทคโนโลยีสีเขียว ปราศจากสารเคมีและความร้อน ส่งผลให้สารสกัดมีคุณสมบัติโดดเด่น เช่น ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยผลัดเซลล์ผิว ลดเลือนริ้วรอย และต้านจุลินทรีย์ก่อโรคผิวหนัง
บริษัท สยาม เนเชอรัล โปรดักซ์ ได้นำสารสกัด “ARAMARA” ไปใช้ในผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “Dr. Agei” ซึ่งได้รับการจดแจ้งผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านแผนธุรกิจเพื่อขยายโอกาสสินค้าข้าว จาก กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว
ขับเคลื่อนนวัตกรรมไทยสู่ความยั่งยืน
ความร่วมมือนี้เป็นส่วนหนึ่งของ กลยุทธ์ S&T Implementation for Sustainable Thailand ของ สวทช. ที่มุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยใช้ทรัพยากรชีวภาพของประเทศเป็นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยสู่ตลาดโลก