Last updated: 11 มี.ค. 2566 | 332 จำนวนผู้เข้าชม |
สวทช. จับมือ ดีป้า เปิด “ศูนย์เร่งพัฒนาต้นแบบรวดเร็ว-TD-X Center” สร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมดิจิทัลออกสู่ตลาด
ณ โถงอาคารกลุ่มนวัตกรรม 1 (INC1) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. จ.ปทุมธานี: ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ร่วมแถลงข่าวเปิดศูนย์เร่งพัฒนาต้นแบบรวดเร็ว (TD-X Center: Thailand Science Park & depa Acceleration Center) โดยมีคุณฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ (กลุ่มงานส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล) depa ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (กลุ่มงานส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล) depa ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. และ ผศ.ดร. วีรชัย อาจหาญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมงาน โดยศูนย์เร่งพัฒนาต้นแบบรวดเร็ว จัดตั้งขึ้นและดำเนินงานร่วมกันระหว่าง สวทช. และ depa เพื่อพัฒนา Platform และสร้าง Ecosystem ในการเร่งการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs Startup สำหรับผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านนวัตกรรม ตั้งแต่การออกแบบและพัฒนาต้นแบบที่ครบวงจรอย่างรวดเร็ว โดยอาศัย Platform เป็นศูนย์กลางในการดำเนินการประสานความร่วมมือระหว่างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน
ด้านศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สมัยก่อนการผลิตต้นแบบมีหลายขั้นตอนกว่าจะได้ผลงานออกมา แต่ในปัจจุบันนี้มีการนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้สามารถผลิต ดูผลงาน แก้ไขได้ตามความต้องการ และพิมพ์ออกมาได้ทันที ศูนย์เร่งสปีดต้นแบบในส่วนนี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างดิจิตอลเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น วัสดุและการออกแบบที่มีมาตรฐานโดยมีเครื่องมือที่สามารถช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพตามที่ต้องการ ซึ่งบางครั้งเทคโนโลยียังสามารถก้าวข้ามความคิดของนักวิจัยจนได้งานที่มีคุณภาพไม่แพ้ช่างมืออาชีพ ดังนั้นศูนย์เร่งพัฒนาต้นแบบรวดเร็ว-TD-X Center จะตอบโจทย์ทั้งในส่วนของบริษัท สตาร์ทอัพ ไปจนถึงปัจเจกบุคคลที่ต้องการทดสอบไอเดียและผลิตผลงานต้นแบบได้อย่างรวดเร็ว โดยจะมีบุคลากรดูแลและให้คำแนะนำตลอดจนออกแบบให้ผู้ประกอบการ ที่มีเพียงแนวคิด ทางศูนย์ฯ จะมีวิศกรช่วยสร้างช่วยงานออกแบบผลิตภัณฑ์และพิมพ์ออกมาได้ตรงตามที่ผู้ประกอบการต้องการ ลดต้นทุนและระยะเวลาในการออกแบบให้เร็วขึ้น
ทาง สวทช. มีความยินดีที่ได้รับโอกาสพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาต้นแบบร่วมกับ depa และร่วมกันเปิดศูนย์เร่งพัฒนาต้นแบบรวดเร็ว (TD-X Center: Thailand Science Park & depa Acceleration Center) ในวันนี้ โดย สวทช. มีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญของทัพนักวิจัย ซึ่งจะเป็นขุมพลังหลักทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ซึ่ง สวทช. มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการทำงานร่วมกับพันธมิตร ที่เป็นเจ้าของโจทย์สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม พร้อมที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเสริมความแข็งแกร่งในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ depa เพื่อร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs Startup ให้เกิดกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวคิดและประสบการณ์ โดยอาศัยความร่วมมือเชิงพันธมิตรกับหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอกที่มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม มาปรับใช้ในองค์กรเพื่อปรับปรุงนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ให้เกิดการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตท่ามกลางบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์เร่งพัฒนาต้นแบบรวดเร็ว หรือ TD-X Center ตั้งขึ้นเพื่อพัฒนา Platform และสร้าง Ecosystem ในการเร่งการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs Startup สำหรับผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านนวัตกรรม ตั้งแต่การออกแบบและพัฒนาต้นแบบที่ครบวงจรอย่างรวดเร็ว โดยอาศัย Platform เป็นศูนย์กลางในการดำเนินการประสานความร่วมมือระหว่างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน การให้ความรู้ คำแนะนำ และหน่วยงานสนับสนุนเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับให้บริการออกแบบ บริการผลิตต้นแบบ การทดสอบคุณภาพตามมาตรฐาน รวมถึงการทำ Market Validation หรือ MVP (Minimum Viable Product) เพื่อศึกษา Function และ Features ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาต้นแบบเชิงอุตสาหกรรม การบ่มเพาะธุรกิจ การลงทุน ขยายการผลิตผลิตภัณฑ์ออกสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs Startup สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพมาตรฐาน และตรงความต้องการของตลาด ลดการสูญเสียผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ชิ้นส่วนจากต่างประเทศ สามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ สร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
“การเปิดศูนย์เร่งพัฒนาต้นแบบรวดเร็ว TD-X Center ในวันนี้ ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่าง depa และ สวทช. ยังมีผลงานวิจัยพัฒนา เทคโนโลยี และนวัตกรรมอีกหลายด้านที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs Startup และภาคอุตสาหกรรมของ depa เพื่อสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมดิจิทัล เกิด Digital Transformation การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนำไปสู่การพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ depa กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญของ depa คือการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล รวมถึงการดำเนินการเพื่อเร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย depa มุ่งส่งเสริมให้เกิดการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้ภาคเอกชนและผู้ประกอบการได้ใช้ประโยชน์และสอดรับกับการพัฒนาระบบนิเวศวิจัยของประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบ วิเคราะห์ และทดสอบทดลอง ผ่านกลไกการดำเนินของ depa
สำหรับโครงการพัฒนาศูนย์เร่งพัฒนาต้นแบบรวดเร็ว หรือ TD-X Center ถือเป็นผลสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐทั้งสองหน่วยงานที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายการเป็นประเทศที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านการดำเนินงานด้านการพัฒนาศักยภาพและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้กับ สวทช. เพื่อให้เกิดการยกระดับมาตรฐานทางเทคโนโลยีของเครื่องมือ รวมไปถึงการพัฒนาและปรับปรุงแพลตฟอร์มให้มีความทันสมัย ช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักวิจัยและนักพัฒนาในการสร้างต้นแบบรวดเร็ว (Rapid Prototype) ลดระยะเวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนผลักดันงานวิจัยสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญช่วยให้นักวิจัยสามารถนำส่งการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของธุรกิจใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินงาน หรือ Digital Startup ได้มากขึ้น ซึ่งในหลายประเทศได้รับการพิสูจน์แล้วว่า Digital Startup ถือเป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้สามารถอยู่รอดได้
“เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การส่งเสริมสนับสนุนและทำงานร่วมกันระหว่างพันธมิตรทั้งสองฝ่าย จะช่วยให้เกิดระบบนิเวศของธุรกิจที่ช่วยผลักดันให้เกิดวงรอบของผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง และเกิดผลกระทบในวงการวิจัยที่ช่วยให้สามารถต่อยอดการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างแท้จริง”