Last updated: 19 มี.ค. 2566 | 205 จำนวนผู้เข้าชม |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบหน้ากากอนามัยชนิด N95 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหาคร จำนวน 10,000 ชิ้น โดยหน้ากากอนามัยชนิด N95 ตามมาตรฐาน (มอก.) 2480-2562 มีประสิทธิภาพการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ ตัวหน้ากากมีความแนบกระชับกับใบหน้า มีความปลอดภัย ใช้ครั้งเดียว ลดความเสี่ยงการติดเชื้อทางการแพทย์ ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง และการแพ้ต่อผิวหนัง ใช้ป้องกันสารคัดหลั่ง เหมาะสำหรับใช้งานทางการแพทย์
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เกียรติเป็นประธานพิธีมอบหน้ากากอนามัยชนิด N95 ให้กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับมอบหน้ากากอนามัยชนิด N95 จำนวน 10,000 ชิ้น เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมของกรุงเทพมหานคร ในการป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และโรคระบาดโควิด 19 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ โดยมี นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว., ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว., ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ศลช.), ดร.จิตต์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการ ศลช. และ นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหาร อว. และผู้บริหารหน่วยงาน อว. เข้าร่วมงานพิธีดังกล่าวด้วย
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 66 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “รัฐบาล โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับแนวหน้า เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต นี่คือพันธกิจที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศไทยอย่างยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม”
ในช่วงของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา การเร่งพัฒนางานวิจัย และการสร้างนวัตกรรม เพื่อดูแลสุขภาพและปกป้องชีวิตของประชาชนคนไทยเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงหน้ากากอนามัยที่เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญต่อการดำรงชีวิตให้ปลอดภัย ป้องกันการแพร่เชื้อและการรับเชื้อ ในช่วงที่ต้องเผชิญกับการระบาดของโรค และเชื่อว่าหน้ากากอนามัยจะยังคงมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์จากนี้ไปจนถึงอนาคต
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่ระบาดก่อนหน้านี้และคลี่คลายลงแล้ว ปัจจุบันเรายังเผชิญกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมมือกับเครือข่ายภาคีต่าง ๆ ในการนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาใช้เพื่อแก้วิกฤตทางอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานวิจัยในยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
“ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. (TCELS), สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินโครงการ เพิ่มคุณสมบัติและประสิทธิภาพหน้ากากอนามัย N95 เพื่อบุคคลากรทางการแพทย์ และประโยชน์ในมิติต่างๆ ด้วยวัตถุดิบในประเทศ ในการวิจัย คิดค้น ทดลอง และทดสอบ จนสามารถผลิตนวัตกรรมหน้ากากอนามัย N95 ให้มีคุณประโยชน์หลายทาง ทั้งการป้องกันโรคโควิด 19 และการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มาใช้ประโยชน์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการนำเข้าหน้ากากอนามัยจากต่างประเทศ ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทย จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการแห่งความสำเร็จ ที่สามารถพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของไทยอย่างแท้จริง”
“ในโอกาสนี้ ขอส่งมอบหน้ากากอนามัย N95 จำนวน 10,000 ชิ้น ให้แก่กรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในงานด้านต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร ทั้งงานด้านสาธารณสุข และงานป้องกันโรค และขอให้บุคคลากรของกรุงเทพมหานคร ที่ได้ใช้หน้ากากอนามัย N95 มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ปลอดโรค ปลอดภัย ปลอดฝุ่น มีความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพมาตรฐานเทียบเท่าหรือดีกว่าที่ขายในท้องตลาด ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากฝีมือคนไทย” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวปิดท้าย
ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า กทม. ไม่กังวลเรื่องโควิด-19 แต่กังวลเรื่องฝุ่น จาก 9 เดือนที่ผ่านมา ผลงานที่ตนภาคภูมิใจ คือการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเปลี่ยนวิธีการทำงานของราชการ โดยใช้ Traffy Fondue ที่พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานภายใต้ อว. เข้ามาช่วย แสดงให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์ช่วยแก้ปัญหาเมืองได้ กรุงเทพฯ ถือเป็น city lab ขนาดใหญ่ เราต้องใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี มาช่วยแก้และจัดการปัญหา จึงรู้สึกยินดีที่ได้ร่วมงานและเป็นส่วนหนึ่งของ อว. และตนเห็นด้วยกับ รมว.อว. ในเรื่องการแบ่งปัน เพราะเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ และเป็นพันธะสัญญาของสังคมที่เราช่วยเหลือกันโดยไม่อิงตามกฎหมายหรือข้อบังคับอะไร และในอนาคต กทม. จะจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดซื้อหน้ากากอนามัย รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ผลิตโดยฝีมือคนไทยต่อไป และขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมหน้ากากอนามัยชนิด N95 ที่ได้มอบหน้ากากอนามัยให้กรุงเทพมหานคร ซึ่งทางกรุงเทพมหานครจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ในการส่งมอบต่อแก่บุคคลากรในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด้านสิ่งแวดล้อม และประชาชนคนกรุงเทพ ที่จะได้ใช้หน้ากากอนามัยชนิด N95 ที่เป็นผลผลิตจากงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ผ่านการทดลอง ทดสอบ จนมั่นใจได้ว่าเป็นสุดยอดหน้ากากอนามัยที่มีคุณสมบัติป้องกันไอเสีย ควันจากรถยนต์ มลภาวะทางอากาศ และเชื้อโรค ที่กระทบต่อสุขภาพอนามัยของคนกรุงเทพ
ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. (TCELS) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม มีพันธกิจสำคัญในการสนับสนุนทุน ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีและบริการด้านชีววิทยาศาสตร์ สู่การนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์และสังคม อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงคนไทยทั้งประเทศ”
“เมื่อต้นปี 2563 ได้เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ร่วมริเริ่มจัดทำโครงการพัฒนานวัตกรรมหน้ากากอนามัยชนิด KN95 และนำไปสู่หน้ากากอนามัยชนิด N95 ได้สำเร็จในปี 2565 ซึ่งนวัตกรรมของหน้ากากอนามัยนี้ คือ เส้นใยไฟเบอร์ระดับนาโนเมตร และมีเทคนิคของการเคลือบเส้นใยด้วยสารยับยั้งไวรัส โดยเส้นใย และเทคนิคพิเศษนี้เป็นเทคโนโลยีจาก SCG โดยได้นำมาพัฒนาเป็นหน้ากากอนามัยชนิด N95 รุ่นปัจจุบัน ภายใต้ชื่อ “หน้ากากอนามัย MEL-B N95” ซึ่งมีคุณสมบัติที่โดดเด่น คือ สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ 99.99% และวัสดุที่ใช้สามารถป้องกันไวรัสได้ 99.53% มีประสิทธิภาพในการกรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอน ได้ 98.96% และคุณภาพการป้องกันของหน้ากากอนามัย อยู่ในระดับที่ 3 จึงเป็นหน้ากากที่เหมาะสำหรับใช้งานทางการแพทย์
อีกทั้งนวัตกรรมนี้ยังได้รับความสนใจจากเอกชนจำนวนหนึ่ง ที่ประสงค์จะร่วมต่อยอด พัฒนา สู่เชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดของภาคเอกชนในประเทศให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขัน ลดการนำเข้า เนื่องจากผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้เป็นผลิตภัณฑ์ของคนไทย ใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศไทย มีราคาที่ถูกกว่าผลิตภัณฑ์นำเข้าด้วยคุณสมบัติที่เทียบเคียงกันอยู่ที่ร้อยละ 30 และที่สำคัญที่สุด คือ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป
ขณะที่นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า หน้ากากอนามัยชนิด N95 ซึ่งเป็นผลงานพร้อมใช้ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. (TCELS) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ มีเป้าหมายในการนำผลสำเร็จจากงานวิจัยและนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพ แก้ปัญหาสำคัญและเป็นวิกฤตเร่งด่วนของประเทศ โดย วช. ได้สนับสนุนการวิจัย และนวัตกรรมที่สามารถสร้างชุดข้อมูลการระบาดวิทยา เรื่องลักษณะพันธุกรรมของเชื้อไวรัสการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ชุดตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็วแม่นยำ การพัฒนายาและวัคซีน อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ทดแทนทางการแพทย์ อาทิ หน้ากาก N95 ชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (หรือ PAPR) การวิจัยเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา เป็นต้น และในปัจจุบัน วช. ยังได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพ และสามารถต่อยอดขยายผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงมาอย่างต่อเนื่องอีกหลากหลายนวัตกรรม