"กฎหมายใหม่คาร์ซิท" ประกาศแล้ว! เด็กจะเดินทางอย่างไรให้ปลอดภัยช่วงสงกรานต์

Last updated: 11 เม.ย 2566  |  162 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"กฎหมายใหม่คาร์ซิท" ประกาศแล้ว! เด็กจะเดินทางอย่างไรให้ปลอดภัยช่วงสงกรานต์

รองศาสตราจารย์นายแพทย์อดิศักดิ์ผลิตผลการพิมพ์ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า “จากการแก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 123 ที่กำหนดให้คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกินหกปีหรือความสูงไม่เกิน 135 ซม ต้องใช้ที่นั่งนิรภัย หรือที่นั่งพิเศษนั้น
จนถึงวันนี้ได้มีประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายในเรื่องที่นั่งนิรภัยหรือที่นั่งพิเศษ โดยประกาศราชกิจจานุเบกษามา ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ของปี 2566 ที่จะถึงนี้ซึ่งเป็นช่วง 7 วันอันตรายของการเดินทางทุกปี ทางสถาบันจึงได้เรียนเชิญ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ การลดอัตราการตายของเด็กจากการเดินทางโดยรถยนต์มาตอกย้ำความสำคัญและแนวทางปฏิบัติของพ่อแม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์”

ศ.นพ. สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การใช้ยานพาหนะเดินทางเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บเสียชีวิตอันดับต้นๆของเด็ก รถยนต์เป็นเหตุรองลงมาจากมอเตอร์ไซด์แต่เดิมยังไม่มีกฎหมายช่วยสร้างความปลอดภัยให้เด็กและแนวโน้มอัตราการตายของเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 10 ปีสูงขึ้นอาจเป็นจากการใช้รถยนต์ที่มากขึ้น ขณะที่มอเตอร์ไซด์มีกฎหมายครอบคลุมแต่ยังมีปัญหาการปฏิบัติแต่แนวโน้มการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีลดลงซึ่งอาจเป็นจากการใช้ที่ลดลง ในการศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า งานวิจัยเรื่องที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเป็นหนึ่งในเจ็ดเรื่องของงานวิจัยที่เกี่ยวกับสุขภาพเด็กที่ช่วยลดการตายของเด็กในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยพบว่าการใช้ที่นั่งนิรภัยสามารถลดอัตราการตายของเด็กลงกว่าร้อยละ 55-78 ของการตายจากการใช้รถยนต์ในขณะที่การเดินทางของเด็กในสหรัฐเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวในช่วงเวลา 40 ปีนั้น

การศึกษาวิจัยค้นพบว่า คาร์ซีทหรือที่นั่งนิรภัย ที่นั่งเสริมสำหรับเด็ก และเข็มขัดนิรภัยที่รวมเรียกว่า ระบบยึดเหนี่ยวผู้โดยสารสามารถลดการดีดตัวของผู้โดยสารระหว่างการชนและช่วยชีวิต การใช้คาร์ซีทอย่างเหมาะสมช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารกร้อยละ 71 และสำหรับเด็กเล็กร้อยละ 54% ที่นั่งบูสเตอร์ หรือที่นั่งพิเศษ ที่นั่งเสริม

สำหรับเด็กโตที่เริ่มใช้คาร์ซีทไม่ได้เพราะสูงเกิน เมื่อเทียบกับการคาดเข็มขัดนิรภัยเพียงอย่างเดียวสามารถลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บสาหัสได้ถึงร้อยละ 45% ในการศึกษาวิจัยพบว่าการใช้กฎหมายที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเพิ่มการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กร้อยละ 13 มีความจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นควบคู่กันไปด้วย พบว่า การกระจายที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กและโปรแกรมการศึกษาให้ความรู้เพิ่มการการใช้ที่ร้อยละ 23 และการลดอัตราการตายของเด็กจะทำได้ดีขึ้นหากมีมาตรการการช่วยเหลือกลุ่มครอบครัวที่มีรายได้น้อย และครอบครัวในชนบทให้เข้าถึงการใช้ที่นั่งนิรภัยอย่างทั่วถึง

คุณแม่กมลวรรณและลูกน้อย 4 เดือน ได้เล่าถึงเหตุการณ์และแสดงคลิปหน้ารถที่น่ากลัวของครอบครัวขณะขับรถเดินทางและเกิดเหตุที่รถฝั่งตรงข้ามที่วิ่งสวนมาเกิดเสียหลักกระทันหันทำให้รถทั้งคันปัดมาขวางหน้ารถของคุณแม่กมลวรรณ ก่อนที่จะมีเสียงกรีดร้องตกใจของคุณกมลวรรณที่เป็นผู้ขับ ตามด้วยเสียงรถชน เสียงเด็กน้อย 4 เดือน ร้องไห้ตามมา และเสียงคุณแม่ร้องหาลูกด้วยความหวาดกลัวว่าลูกจะเจ็บในขณะที่คุณแม่เองได้รับบาดเจ็บ แต่ผลลัพธ์ในที่สุดพบว่า แม่ที่เป็นคนขับและคุณยายที่นั่งหน้าข้างคุณแม่บาดเจ็บเล็กน้อยจากการใช้เข็มขัดนิรภัยในขณะที่ถุงลมระเบิดออกใช้งานเพราะความรุนแรงของการชน คุณพ่อใช้เข็มขัดนิรภัยและลูกน้อย 4 เดือนที่ใช้ที่นั่งนิรภัยแบบหันหน้าไปทางด้านหลังรถ ติดตั้งยึดกับเบาะหลังด้วย isofix ต่างไม่ได้รับบาดเจ็บ คุณแม่กล่าวว่าหากคุณพ่ออุ้มลูกไว้หรือวางลูกหลับสบายๆ บนเบาะรถ ลูกคงลอยหลุดมือคนอุ้มหรือลอยออกจากเบาะรถไปชนกระแทกหรือทะลุออกจากรถแน่ เพราะเป็นการชนที่คาดไม่ถึง ใช้เวลาเบรกสั้นมากก่อนจะชนกัน รู้สึกตัวว่ามีแรงเกิดขึ้นที่มาทำให้เราพุ่งออกจากที่นั่งจำนวนมากในเวลาที่สั้นมากๆ อยากให้พ่อแม่ทุกคนพิจารณาการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับลูกน้อยของเราเพื่อความปลอดภัยของเขาในขณะโดยสารรถยนต์

พันตำรวจเอกหญิง จินดา กลับกลาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า ตามการแก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 123 ที่กำหนดให้คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกินหกปีหรือความสูงไม่เกิน 135 ซม. ต้องใช้ที่นั่งนิรภัย ที่นั่งพิเศษนั้น ได้มีประกาศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 16 ก.พ. เรื่อง การกำหนดที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย และวิธีการป้องกันอันตราย ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ พ.ศ.๒๕๖๖ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยและเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆจึงกำหนดให้มีผลบังคับเมื่อพ้น 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (15 สิงหาคม 2566) โดยกำหนดให้ ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ได้แก่ (ก) ที่นั่งนิรภัยชนิดนั่งหันไปทางด้านหลังรถ (ข) ที่นั่งนิรภัยชนิดนั่งหันไปทางด้านหน้ารถ ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก ได้แก่ ที่นั่งเสริม เพื่อยกตัวเด็กให้ใช้เข็มขัดนิรภัยได้พอดี

ข้อยกเว้น ในกรณีที่ไม่สามารถจัดให้เด็กใช้ที่นั่งนิรภัยหรือที่นั่งพิเศษได้ให้ถือปฏิบัติดังนี้

2.1) ต้องขับรถด้วยความเร็วช้าโดยคำนึงถึงความปลอดภัย และต้องขับให้ใกล้ขอบทางเดินรถด้านซ้าย เว้นแต่–ในช่องเดินรถนั้นมีสิ่งกีดขวางหรือถูกปิดการจราจร–จะต้องเข้าช่องทางให้ถูกต้องเมื่อเข้าบริเวณใกล้ทางร่วมทางแยก–เมื่อจะแซงขึ้นหน้ารถคันอื่น

2.2) ต้องจัดให้เด็กนั้นนั่งในที่นั่งโดยสารตอนหลังเว้นแต่เป็นรถกระบะหรือรถกึ่งกระบะให้นั่งโดยสารที่นั่งตอนหน้าได้ ทั้งนี้ห้ามมิให้นั่งตอนท้ายกระบะ โดยต้องจัดให้มีผู้ดูแลเด็กในขณะโดยสาร หรือให้เด็กรัดเฉพาะเข็มขัดรัดหน้าตัก

ทั้งนี้การแก้ไข พ.ร.บ. จราจรทางบกดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความปรารถนาดีห่วงใยความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ด้าน รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เราคงเห็นความสำคัญของคาร์ซีทจากเรื่องเล่าของคุณแม่กมลวรรณและจากงานวิจัยที่ ศจ. นพ. สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ได้พูดถึง เราต้องช่วยกันสร้างความรู้แก่ประชาชนและสร้างระบบการช่วยเหลือให้ประชาชนเข้าถึงการใช้คาร์ซีทมากขึ้น กลไกด้านการสร้างความรู้กับผู้ปฏิบัติงานนั้น ทางสถาบันและหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนมีแผนร่วมมือในการสร้าง “จิตอาสาคาร์ซีท” โดยจัดการอบรมความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บุคลากรสาธารณสุข อสม อพปร เจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน คนขับรถสาธารณะ แทกซี่ เพื่อสร้างผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อไป

สำหรับกลไกด้านราคาและมาตรการสนับสนุนด้านภาษีนั้น ปัจจุบันภาษีการนำเข้าสินค้าช้าเป็นศูนย์ราคาถูกลงแล้ว แต่รัฐยังไม่มีมาตรการจัดงบประมาณจากภาครัฐเพื่อสนับสนุนด้านราคาของที่นั่งนิรภัย และสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารที่นั่งนิรภัยในจุดบริการเด็กต่างๆ เช่น ในโรงพยาบาล ในศูนย์เด็กเล็กฯ และในสถานศึกษา ยังไม่มีการสนับสนุนการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ ด้านราคาเองรัฐยังไม่มีนโยบายเฉพาะในการช่วยผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถซื้อที่นั่งนิรภัยได้ง่ายขึ้น

วิทยาเขตศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดตั้งโครงการสาธิตธนาคารคาร์ซีทและโปรแกรมสนับสนุนการเช้าถึงคาร์ซีทคนละครึ่งเป็นโครงการทดลองเพื่อขยายผลต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้