มูลนิธิโครงการหลวง - สวพส. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) แผนการวิจัยพื้นที่สูงระยะ 4 ปี

Last updated: 27 มิ.ย. 2566  |  270 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มูลนิธิโครงการหลวง - สวพส. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) แผนการวิจัยพื้นที่สูงระยะ 4 ปี

มูลนิธิโครงการหลวง และ สวพส. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) แผนการวิจัยพื้นที่สูงระยะ 4 ปี (พ.ศ.2567–2570 ) มุ่งหวังพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนบนพื้นที่สูง

พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานเปิดการประชุม เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนการวิจัยพื้นที่สูง ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2567 - 2570) ของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

องคมนตรีได้กล่าวแก่ผู้ที่เข้าร่วมประชุมซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารมูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง คณะอนุกรรมการวิจัยและพัฒนา นักวิจัย หน่วยบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม สถาบันการศึกษา หน่วยงานท้องถิ่น และตัวแทนเกษตรกร รวม 281 คน และผู้ร่วมประชุมในระบบออนไลน์อีก 70 คน สรุปได้ว่า พื้นที่สูงในอดีตมีปัญหาสำคัญที่สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติมากมาย ทั้งสภาพสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ยากลำบาก ดำรงชีพตามวิถีดั้งเดิม คือ ทำไร่เลื่อนลอย บุกรุกทำลายป่า ปลูกพืชเสพติดเป็นรายได้จุนเจือครอบครัว ทำให้เกิดผลกระทบที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

โครงการหลวงในพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงกำเนิดขึ้นในปีพุทธศักราช 2512 เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ด้วยหลักการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ยึดความสมดุลในเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา งานของโครงการหลวงสืบสานมาสู่รัชกาลปัจจุบัน ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา และต่อยอดรูปแบบการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ให้เป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหา เกิดประโยชน์ทั้งแก่ชาวเขา ชาวเรา ชาวโลก องค์ความรู้และนวัตกรรมต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้ยกร่างแผนภายใต้โจทย์ปัญหาของเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ด้วยบริบทสังคมบนพื้นที่สูง ซึ่งนับพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 500 เมตรขึ้นไป ในจำนวน 20 จังหวัด 4,205 กลุ่มบ้าน พื้นที่เหล่านี้มีจำนวนประชากรเพิ่มจากระดับแสนคน เป็นระดับล้านคนในปัจจุบัน ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น นำมาสู่ปัญหาการรุกล้ำสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้ทันต่อปัญหาจึงต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยนำโมเดลโครงการหลวง ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม มาเป็นแนวทางในการทำงานยกระดับการดำเนินงานเชิงพื้นที่ มุ่งวิจัยสิ่งใหม่ ต่อยอดจากงานวิจัยของโครงการหลวงซี่งมีศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ เป็นศูนย์กลาง ใช้เทคโนโลยี องค์ความรู้

รวมทั้งวิธีดำเนินงานสมัยใหม่ขับเคลื่อนการพัฒนา โดยแผนการวิจัยพื้นที่สูงนี้ ประกอบด้วย 4 แผนย่อย คือ (1) การวิจัยเพื่อพัฒนาอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (2) การวิจัยเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ (3) การวิจัยและพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนบนพื้นที่สูง และ (4) การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานวิจัยบนพื้นที่สูง ซึ่งดำเนินบนความท้าทายทั้งด้านปัญหาความยากจน การสูญเสียป่า การเผาทำลายป่า หมอกควัน ภัยแล้ง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสังคมผู้สูงอายุ และข้อจำกัดการเข้าถึงบริการของรัฐอย่างเสมอภาค ในการระดมความคิดเห็นต่อร่างแผนการวิจัยนี้ ได้มีเห็นร่วมกันว่าจะต้องใช้กลไกการระดมทุนจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน ผลักดันการดำเนินงานบนพื้นที่สูงให้มีทิศทางและเป้าหมายที่ถูกต้อง ชัดเจน ภายใต้การประสานพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน ซึ่งจะนำเสนอต่อคณะกรรมการ ประสานงาน และสนับสนุนงานโครงการหลวง หรือ กปส. ซึ่งเป็นคณะกรรมการภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ให้ความเห็นชอบต่อไป

ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ ประธานคณะทำงานวิจัย มูลนิธิโครงการหลวง กล่าวสรุปว่า แผนงานวิจัยพื้นที่สูง ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2567-2570) ที่ได้จะใช้เป็นกรอบการดำเนินงานสนับสนุนพื้นที่สูงสำหรับหน่วยงานและนักวิจัย รวมถึงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณผ่านกองทุน ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย วิธีการ งบประมาณ และการบริหารจัดการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วที่ส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้าเสรี ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม สภาพภูมิอากาศ สังคมผู้สูงอายุ ความต้องการ กฎเกณฑ์กติกาและมาตรฐานของโลก การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ สำหรับนำไปใช้แก้ไขปัญหาที่ตรงเป้าหมายของประเทศ และความร่วมมือของเครือข่ายหน่วยงานซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวปิดการประชุมว่า สิ่งที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ คือ ทำไมต้องมีแผนวิจัยพื้นที่สูง เพราะการพัฒนาบนพื้นที่สูงด้วยการวิจัยเป็นงานที่ยาก ต้นแบบความสำเร็จของโครงการหลวงที่ผ่านมาล้วนต้องผ่านการวิจัยเป็นรากฐานทั้งสิ้น ปัจจุบันการพัฒนาด้วยงานวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ ยังมีความต่างคนต่างทำ ดังนั้นกิจกรรมการจัดทำแผนการวิจัยพื้นที่สูง ระยะ 4 ปี (พ.ศ.2567-2570) วันนี้จึงเกิดขึ้น เพื่อให้ทุกหน่วยงานด้านงานวิจัยได้ทำงานไปในทิศทาง และเป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และมุ่งหวังพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนบนพื้นที่สูงให้มีความอยู่ดีมีสุข ต่อไป


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้