ม.มหิดล - สถานทูตนอร์เวย์ เตรียมเปิด "ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทย-เมียนมา"

Last updated: 11 ส.ค. 2566  |  962 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ม.มหิดล - สถานทูตนอร์เวย์ เตรียมเปิด "ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทย-เมียนมา"

ม.มหิดล-สถานทูตนอร์เวย์เตรียมเปิด "ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทย-เมียนมา' ภายใต้บริบทของความเป็น "พลเมืองโลก" จะทำให้ถนนทุกสายมุ่งสู่ทิศทางเดียวกัน และสามารถมีส่วนทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุมิตรา สุรรัตน์เดชา รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และอาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาโทและเอก สาขาวิชาภาษาศาสตร์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง ภารกิจสำคัญของสถาบันฯ ในการจัดหลักสูตรเสริมศักยภาพ "ครูอาสา" ตาม "โครงการ RILCA Empowerment : Creating Refugees, Migrants as Agents of Positive Change การเสริมพลังให้กับผู้ลี้ภัย และแรงงานข้ามชาติในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก" โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถานทูตประเทศนอร์เวย์ ผ่านกองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบ่มเพาะ "พลเมืองโลก" สร้างความรู้ความเข้าใจผ่านการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมสู่ความตระหนักถึงคุณค่าในตนเอง เคารพในความต่าง รวมพลังสร้างสรรค์สังคมโลก สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในห้องเรียนพลเมืองโลกที่สร้างขึ้นโดย สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดลนี้ ไม่เพียงเป็นการสอน "ภาษาเพื่อการสื่อสาร" เพื่อเป็น "เครื่องมือ" ในการติดต่อ สร้างความเข้าใจระหว่างพี่น้องชาวไทย-เมียนมา ยังเป็นการสอน "ภาษาสังคม" เพื่อสร้างความตระหนักถึง "ภารกิจทางสังคม" ที่ทุกคนพึงมีร่วมกัน

จากการออกแบบกิจกรรม โดยใช้เครื่องมือ "วงล้อแห่งอัตลักษณ์" (Identity Wheel) ที่ช่วยสร้างความเข้าใจ และตระหนักรู้ในคุณค่าของตนเองและผู้อื่น ในระดับบุคคล ชุมชนและสังคม ก่อนเข้าสู่บทเรียน "Dialogue เสริมพลัง" ที่นำไปสู่การสร้างโจทย์ ระดม-แลกเปลี่ยน-สะท้อนความคิด สู่การปรับใช้ในชีวิตจริง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุมิตรา สุรรัตน์เดชา ได้ให้มุมมองถึง หลักสูตรพลเมืองโลกว่า เป็นแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำในสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ แบ่งเขา แบ่งเรา ในยุคที่ความท้าทายระดับโลกส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ผู้คนและเศรษฐกิจต้องพึ่งพาอาศัยกัน การแก้ปัญหาต้องอาศัยการวางแผน การบริหารจัดการ และความร่วมมือที่กว้างไกลกว่าพรมแดนของประเทศ และมีจุดเริ่มต้นจาก "ความเข้าใจในภาษาวัฒนธรรมของกันและกัน" จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความประทับใจเมื่อโครงการได้รับการตอบรับและการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นและนานาชาติอย่างดีเยี่ยม จนสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้จัด เกิด "พลังใจ" พร้อมผลักดันสู่การสร้าง "ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมเพื่อความเข้าใจไทย-เมียนมา" ในอนาคตอันใกล้

การเรียนภาษาจะไม่เป็นเพียงชั้นเรียนแห่งการออกเสียง หรือท่องคำศัพท์อีกต่อไป หากได้ทำให้มี "ความหมายร่วมกัน" จากการเรียนรู้วัฒนธรรม พร้อมสร้างความตระหนักในความเป็นพลเมืองโลก ด้วยปณิธาน "ปัญญาของแผ่นดิน" ของมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมมุ่งสร้างสรรค์ภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการสร้างความเข้าใจ และสร้างสันติภาพสู่การรวมพลังเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสังคมโลก

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้