Last updated: 24 ก.ค. 2566 | 380 จำนวนผู้เข้าชม |
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เดินหน้าขับเคลื่อนดัชนีนวัตกรรมประเทศไทยสู่อันดับที่ 30 ในปี พ.ศ.2573 ภายใต้บทบาท “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)” ที่เชื่อมการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมในทุกมิติ อันจะนำไปสู่การสร้างผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน
ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า ในปี 2566 นโยบายการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศได้ถูกพูดถึงและกำหนดบทบาทอย่างชัดเจน เพื่อนำประเทศไปสู่การแข่งขันระดับมหภาคได้อีกครั้ง โดยการขับเคลื่อนดังกล่าว NIA เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาททั้งในเชิงผู้กำหนดนโยบาย การอำนวยความสะดวกให้ระบบนิเวศนวัตกรรมเอื้อต่อศักยภาพการทำงาน การสร้างมูลค่าทางธุรกิจ รวมทั้งการรังสรรค์นวัตกรรมในกลุ่มผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ และภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายสำคัญที่จะเร่งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ 1 ใน 30 ของประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมโลกภายในปี 2573
“ทั้งนี้ เพื่อยกระดับทิศทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศไทยให้สอดรับกับบริบทโลก NIA จึงได้ปรับเปลี่ยน กลยุทธ์ใหม่ ภายใต้แนวคิด Create the Dot - Connect the Dot - Value Creation ผ่านกลไก Groom Grant Growth และแนวทาง “2 ลด 3 เพิ่ม” ได้แก่ ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการมุ่งเน้นนวัตกรรมแบบเปิดผ่านการเปิดรับแนวคิดใหม่จากสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี เพื่อเติมเต็มจุดอ่อนหรือปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจให้มากขึ้น ลดอุปสรรคการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมให้กับทุกภาคส่วน และแก้ไขกฎระเบียบที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโต เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพิ่มจำนวนนวัตกรและผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการจ้างงาน การเพิ่มขึ้นของ GDP และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ “ชาตินวัตกรรม” รวมถึงเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ให้มีโอกาสขยายตลาด และสร้างแบรนด์นวัตกรรมสัญชาติไทยที่พร้อมแข่งขันกับนวัตกรรมจากต่างประเทศ” ดร. กริชผกา กล่าว
สำหรับในปี 2566 – 2570 NIA ได้เปลี่ยนบทบาทจากสะพานเชื่อมสู่การเป็น “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)” ซึ่งจะดำเนินงานภายใต้ 7 กลยุทธ์ ได้แก่
1) สร้างและยกระดับผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IBEs) ในอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกับเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อพัฒนาและขยายผลโครงการสำคัญใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) Food Tech & Ag Tech 2) Travel Tech 3) Med Tech 4) Climate Tech และ 5) Soft power
2) ส่งเสริมนวัตกรรมแบบเปิดและทำให้ระบบนวัตกรรมไทยเปิดกว้างมากขึ้น โดยเน้นการให้ทุนที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกับแหล่งเงินทุนอื่นๆ
3) ส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยและอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค การพัฒนาย่านนวัตกรรม เมืองนวัตกรรม และระเบียงนวัตกรรมในภูมิภาค
4) เป็นศูนย์กลางการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เชื่อมโยงการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมสนับสนุน IBEs ทั้งทางด้านการเงินและมิติอื่น
5) ส่งเสริมการตลาดนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมในลักษณะของ Business Brotherhood ให้บริษัทขนาดใหญ่มาสนับสนุนการขยายธุรกิจของ IBEs
6) สร้างความตระหนักและการรับรู้ความสำคัญของนวัตกรรมในทุกภาคส่วน ผ่านโครงการ Innovation Thailand การจัดประกวดรางวัลนวัตกรรม
7) พัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นทำงานแบบ Cross Functional
“ภายในระยะ 1 ปี NIA ได้ตั้งเป้าหมายสร้างความก้าวหน้าทางนวัตกรรมไทยทั้งในเชิงมูลค่าและเชิงภาพลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันร่าง พรบ. ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นให้สำเร็จ การสร้างพื้นที่สนับสนุนสตาร์ทอัพโดยมีโมเดล Station F ของสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นต้นแบบ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่มีการรวมตัวของสตาร์ทอัพและนักลงทุน ครบครันด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก บริษัทที่ปรึกษาการทำธุรกิจ สำนักงานของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก โปรแกรมการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ยังจะสร้างเครือข่ายการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวง อว. การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและผลักดันกฎหมายที่ส่งเสริมระบบนวัตกรรมไทยให้เข้มแข็ง เช่น นโยบายด้านการเงินและภาษีที่สนับสนุนธุรกิจนวัตกรรม IP Tax Redeem หรือนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย การขยายสิทธิประโยชน์ในย่านนวัตกรรมร่วมกับ BOI การเชื่อมโยงฐานข้อมูลนวัตกรรมและสร้างแพลต์ฟอร์มสำหรับ Innovation Thailand เป็นต้น” ดร.กริชผกา กล่าวสรุป