Last updated: 11 ส.ค. 2566 | 836 จำนวนผู้เข้าชม |
ในปัจจุบันมนุษย์กำลังผจญกับปัญหาต่าง ๆที่ส่งผลกระทบต่อโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปัญหาน้ำท่วม อากาศร้อนหรือหนาวจัด ปัญหาสัตว์ป่าสูญพันธุ์ ปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ปัญหาไฟป่า และอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น 1-2 องศา และปัญหาขยะล้นโลก โดยสาเหตุนี้มาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดซ์ออกไซด์จากทั่วโลกประมาณ 36 พันล้านตัน ต่อปีซึ่งทำให้โลกร้อนขึ้น
"Carbon neutrality" หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าหรือวิธีการอื่น ถ้าเราไม่ทำจะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจการค้า เราปล่อยคาร์บอนไปเท่าไรและเราดึงกลับมาเท่าไร
ส่วน "Net zero emissions" หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือ การที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสมดุล เท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งในสภาวะสมดุลนี้ก็ไม่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ และหากทุกประเทศทั่วโลกสามารถบรรลุเป้า net zero emissions ได้ ก็แปลว่าเราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนเกิน ที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนได้
ดร. พัฒนพงศ์ จันทร์พวง หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเทคนิคและวิศวกรรม[ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ให้สัมภาษณ์ว่า “จากปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญจนส่งผลกระทบต่าง ๆ ตามมา ทำให้ยูเอ็นเข้ามามีบทบาทโดยตั้งเป็นโรดแมบให้ทุกประเทศทั่วโลกต้องทำ Carbon neutrality ให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด และยังเป็นเงื่อนไขในการค้าขายระหว่างประเทศอีกด้วย จึงเป็นที่มาของโครงการนี้
โครงการเปลี่ยนขยะเป็นกราฟีนมูลค่าสูงถือเป็นการเปลี่ยนขยะที่มีองค์ประกอบพื้นฐานเป็นคาร์บอนแทนที่จะปล่อยออกไป
การเปลี่ยนขยะเป็นกราฟีน มีขั้นตอนคือ นำขยะชีวมวลที่มาจากภาคเกษตรกรรมหรือขยะพอลิเมอร์มาผ่านกระบวนการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ให้กลายเป็นคาร์บอน หลังจากนั้นทำการจ่ายกระแสไฟฟ้าแบบฉับพลันจนเกิดความร้อนสูงถึง 3,000 เคลวิน ในระยะเวลาเพียงมิลลิวินาทีไปจนถึงวินาที ทำให้มีเพียงอะตอมของคาร์บอนที่จัดเรียงตัวใหม่กลายเป็นกราฟีน
กราฟีน (Graphene) เป็นวัสดุที่ประกอบด้วย ชั้นของคาร์บอนอะตอมที่หนาเพียง 1 ชั้นมีลักษณะที่เป็นแผ่นโครงสร้างเป็น 2 มิติเหมือนตาข่ายรูปหกเหลี่ยมคล้ายรังผึ้งมีความหนาเท่ากับขนาดของคาร์บอนเพียงอะตอมเดียว กราฟีนยังมีคุณสมบัติที่แข็งแรงกว่าเหล็ก 200 เท่า นำไฟฟ้าได้ดีกว่าทองแดง เพิ่มความแข็งแรงให้คอนกรีตมากถึง 35 เปอร์เซ็นต์ ลดปริมาณขยะ เพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งได้ 1,000 เท่า ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงอย่างกราฟีน สามารถนำไปเป็นส่วนผสมของวัสดุต่าง ๆ ช่วยลดการสร้าง Carbon Footprint ในอุตสาหกรรมได้“
นอกจากนั้น ยังมีส่วนช่วยการจัดการขยะและการหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ช่วยลดต้นทุนในการกำจัดของเสียและนำมาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ และสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวให้องค์กร สร้างคาร์บอนเครดิตได้จากกระบวนการ CARBON CAPTURE UTILIZATION สามารถซื้อขายคาร์บอนเครติดได้ในตลาดซื้อขายหรือจากองค์กรอื่น ๆ ที่ต้องการ ดร. พัฒนพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
กราฟีนจึงเป็นวัสดุแห่งอนาคตที่มีมูลค่า สามารถนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ในวงการอุตสาหกรรมได้มากมายที่สำคัญยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม