Last updated: 18 มิ.ย. 2567 | 473 จำนวนผู้เข้าชม |
เป้าหมายของ “เอสซีจี” ในการผลักดันยอดขายผลิตภัณฑ์สีเขียว (SCG Green Choice) พุ่งแตะสัดส่วน 67% ของยอดขายทั้งหมดภายในปี 2030 อาจฟังดูเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะยอดขายของเอสซีจีแต่ละปี คือตัวเลขมูลค่า “หลักแสนล้าน” หมายความว่า เอสซีจี จะต้องมี “นวัตกรรมกรีน” ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะต้องตอบโจทย์ความต้องการของตลาดทั่วภูมิภาค
แต่สำหรับ ธรกดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ CEO คนใหม่ของเอสซีจี ที่เพิ่งขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นทางการเมื่อ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา มองว่า เรื่องท้าทายดังกล่าว “เป็นไปได้” เพราะทุกหน่วยธุรกิจของเอสซีจี มุ่งมั่นเดินหน้าสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมกรีนมาระยะหนึ่งแล้ว ข้อสำคัญ คือ ต้องเปลี่ยน “พลังคน” ให้เป็น “โอกาส” มุ่งสู่การเป็น “องค์กรแห่งโอกาส” (Organization of Possibilities) เปิดทางให้ “น้องๆ คนรุ่นใหม่” ไปจนถึงทุกคนที่มีไอเดียทั้งในและนอกองค์กร มีพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรมกรีนที่ทั้งช่วยลดคาร์บอน และเพิ่มฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ตลาดแต่ละกลุ่มได้จริง ปรับองค์กรให้ขับเคลื่อนได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การสร้างสตาร์ทอัพในองค์กร การจัดเวทีให้คนรุ่นใหม่แสดงความสามารถ รวมถึงการเข้าไปลงทุนธุรกิจด้านกรีนในต่างประเทศ
เปิดตัวสตาร์ทอัพ “Wake Up Waste” บีบอัดขยะ 300 ตึกสู่รายได้
หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุดในการเปลี่ยน “พลังคน” สู่ “โอกาส” ของเอสซีจี คือการจัดโครงการ Zero-to-one เปิดพื้นที่ให้คนเอสซีจีที่มีไอเดียดี นำเสนอโปรเจกต์สร้างสตาร์ทอัพของตัวเอง ภัทรพร วงศ์ปิยะสถิต ผู้ก่อตั้ง Wake Up Waste หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ Zero-to-one เล่าว่า เธอกับเพื่อนอีก 2 คน ได้รวมตัวกันพัฒนาเทคโนโลยี “เครื่องบีบอัดขยะ” เนื่องจากการขนส่งขยะรีไซเคิลจากคอนโดมิเนียมและอาคารต่างๆ นั้น มักมีต้นทุนสูง ขนส่งต่อรอบได้ครั้งละจำนวนไม่มาก เครื่องบีบอัดขยะของ Wake Up Waste จะช่วยบีบอัดอากาศในขยะที่คัดแยกไว้แล้ว เช่น ขวดพลาสติก ให้กลายเป็นก้อนที่สามารถจัดเก็บได้ง่ายขึ้น ลดพื้นที่กองเก็บลง 5-10 เท่า หรือใช้รถรับซื้อขยะรีไซเคิลเพียงคันเดียว จากเดิมที่อาจต้องใช้ 5-10 คัน
“จากการนำไอเดียไปนำเสนอโครงการ Zero-to-one สู่การดำเนินโครงการจริงมาแล้ว 19 เดือน ทางเอสซีจีให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เงินทุนก้อนแรกในการพัฒนาเครื่องต้นแบบ หรือ Prototype การให้คำปรึกษา การช่วยหาลูกค้า ปัจจุบัน ทีมไม่ต้องทำงานในตำแหน่งเดิมแล้ว สามารถมาโฟกัสกับโปรเจกต์นี้ได้อย่างเต็มตัว ทำให้เรามีลูกค้าทั้งคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน โรงแรม รวมกว่า 300 อาคาร คิดเป็นปริมาณขยะสะสมกว่า 1,150 ตัน ช่วยลดคาร์บอนเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ถึงกว่า 60,000 ต้น ภายในปีนี้ตั้งเป้าว่าจะมีลูกค้าอาคารสะสมเพิ่มเป็น 1,400 อาคาร รวมถึงอาจได้รับการสนับสนุนให้ spin-off เป็นธุรกิจของตัวเอง โดยมีทั้งเอสซีจี และนักลงทุนภายนอกเข้ามาช่วยสนับสนุนเพิ่มเติม” ภัทรพร กล่าว
เปลี่ยนนักศึกษามีไฟ สู่พนักงานปล่อยแสง
ไม่เพียงแต่พนักงานเอสซีจีโดยตรงที่ได้รับการสนับสนุนไอเดียสู่นวัตกรรม คนรุ่นใหม่ที่ยังไม่ได้เป็นพนักงานเอสซีจีก็ได้รับโอกาสเช่นกัน รัฐศิลป์ โพธิ์ประพันธ์ ศิษย์เก่าโครงการ SCG Young Talent Program เล่าว่า ได้เข้าร่วมโครงการ SCG Young Talent Program โครงการที่เปิดให้นักศึกษาได้เข้ามา “ลองทำงาน” ไม่ใช่แค่ “ฝึกงาน” ตัวเขาและผู้เข้าร่วมโครงการคนอื่นๆ ได้เข้าร่วม Bootcamp พัฒนาทักษะทั้งด้านการออกแบบ ด้านเทคโนโลยี ด้านองค์ความรู้ทางธุรกิจอย่างเข้มข้น ก่อนที่จะได้ร่วมตะลุยโปรเจกต์สร้างนวัตกรรมเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน โดยโปรเจกต์ของทีมเขา คือโปรเจกต์รองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ภายใต้ชื่อ “Never Fall” นวัตกรรม AI ตรวจจับท่าทางการเดินของผู้สูงอายุเพื่อใช้คำนวณว่าผู้สูงอายุคนนี้มีความเสี่ยงในการพลัดตกหรือหกล้มมากแค่ไหน ตอบโจทย์เวชศาสตร์การป้องกัน ไม่รอแก้ปัญหาปลายเหตุแบบนวัตกรรมกลุ่มตรวจจับการหกล้ม (Fall Detection)
ล่าสุด หลังจบโครงการ SCG Young Talent Program รัฐศิลป์ ได้ก้าวเข้ามาเป็นพนักงานของ “SCG We Do” หน่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมในเครือเอสซีจี ปัจจุบัน เขาและทีมกำลังซุ่มทำโปรเจกต์นวัตกรรมกรีน “MEPLUG” (มีปลั๊ก) โปรเจกต์ตอบโจทย์ชาวคอนโดมิเนียมและผู้ใช้รถ EV แก้ปมปัญหา (Pain Point) ที่นิติบุคคลอาคารชุดไม่อยากให้มีปลั๊กในพื้นที่ส่วนกลาง เพราะกลัวคนขโมยไฟฟ้าใช้ ด้วยการทำปลั๊กพิเศษที่สามารถเก็บเงินคนที่ใช้งานโดยตรงได้ ซึ่งอาจนำมาใช้ทดแทน EV Charger แบบ AC หรือแบบ DC ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้ด้วย เนื่องจากมีต้นทุนถูกกว่า ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบ (Prototype) เวอร์ชั่นที่ 3
ลงทุนทั่วโลก-เฟ้นหานวัตกรรม Disrupt ธุรกิจ
นอกจากเปิดทางคนรุ่นใหม่ในประเทศ เอสซีจี ยังมุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งโอกาส สรรหานวัตกรรมใหม่ๆ ผ่านการลงทุน ความร่วมมือ สร้างโอกาส “เป็นไปได้ด้วยกัน” ด้านกรีนกับคนทั่วโลก พัทรพล เกษมธนกุล VC Manager, Deep Technology Venture Capital ในเครือเอสซีจี กล่าวว่า หน้าที่หลักของทีมเขา คือการไปเสาะหาสตาร์ทอัพ และไปลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีสำคัญกับเอสซีจีในอนาคต ทั้งเชิงกลยุทธ์ และเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero emission) ปัจจุบัน ลงทุนในสตาร์ทอัพไปแล้วกว่า 20 ราย เน้นสตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกาและยุโรป นำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดจากต่างภูมิภาคมาใช้ทั้งในไทยและอาเซียน
ตัวอย่างหนึ่งในสตาร์ทอัพที่เข้าไปลงทุน คือสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมใหม่ในการผลิตซีเมนต์ ที่ผ่านมา ซีเมนต์ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้น (Carbon-intensive) ตั้งแต่ตัววัตถุดิบไปจนถึงกระบวนการแปรรูปที่ต้องใช้ความร้อนสูง ขณะที่สตาร์ทอัพรายนี้เปลี่ยนทั้งวัตถุดิบในการผลิตซีเมนต์และเปลี่ยนกระบวนการแปรรูปไปใช้อุณหภูมิห้อง ทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และอาจกลายเป็นเทคโนโลยีที่จะมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่กระบวนการผลิตซีเมนต์ หนึ่งในผลิตภัณฑ์หลักของเอสซีจีที่ผลิตปีละกว่า 10-20 ล้านตัน
ทิศทางการขับเคลื่อน “องค์กรแห่งโอกาส” ด้วย “พลังคน” เพื่อสร้าง “โอกาส” และ “นวัตกรรมกรีน” น่าจะกลายเป็นหนึ่งในทิศทางหลักของเอสซีจีนับจากนี้ ซีอีโอคนใหม่ของเอสซีจี เชื่อมั่นว่า การทำงานระหว่าง “คนรุ่นเขา” และการเปิดทาง “คนรุ่นใหม่” ให้คล่องตัว จะเป็นหัวใจสู่ความสำเร็จของการสร้างสรรค์นวัตกรรมใน 3-5 ปีข้างหน้า
6 ก.ย. 2566
12 มิ.ย. 2566