Last updated: 21 เม.ย 2567 | 254 จำนวนผู้เข้าชม |
เป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัย ที่สามารถนำมาใช้งานด้านความมั่นคงของประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งในอนาคตอาจมีการต่อยอดนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนทุนวิจัยแก่ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ ในการคิดค้นผลงาน “รั้วไร้สาย (ปรับปรุงปี 2564 ระยะที่ 2)” โดยมี พลเรือตรี อนุสรณ์ ยังคุ้มญาติ เป็นหัวหน้าโครงการฯ เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณรอยต่อชายแดนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังช่วยเตือนภัยพิบัติธรรมชาติได้อีกด้วย ซึ่งผลงานดังกล่าวได้นำมาจัดแสดงในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร
พลเรือตรี อนุสรณ์ ยังคุ้มญาติ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ในการดำเนินการคิดค้น “รั้วไร้สาย (ปรับปรุงปี 2564 ระยะที่ 2)” เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติต่าง ๆ บริเวณชายแดนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน มีหลักการทำงานโดยใช้เซนเซอร์ที่ตรวจจับความเคลื่อนไหวของบุคคลและยานพาหนะ ซึ่งคงทนต่อสภาพแวดล้อมที่มีฝนตกชุกหรืออากาศร้อนได้ดี เน้นการซ่อนพรางไว้ในบริเวณต่าง ๆ สามารถครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นป่ารกทึบได้เป็นอย่างดี
โดยกล่องแสดงผลสามารถตรวจจับได้ 8 ทิศทางพร้อมกัน และแต่ละทิศทางสามารถวางแนวตรวจจับได้ไกลทิศทางละ 2 กิโลเมตร และในแต่ละทิศทางสามารถกำหนดระยะได้ 8 ช่วง ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานได้ดี มีโอกาสในการตรวจจับผู้บุกรุกได้สูง อีกทั้งอุปกรณ์ที่ใช้มีการพรางสายตา ใช้งานง่าย ซ่อมบำรุงไม่ยาก และมีความน่าเชื่อถือและแม่นยำสูงสามารถตรวจจับได้มากกว่าร้อยละ 80 หากมีคนหรือยานพาหนะเคลื่อนไหวผ่านแนวเซนเซอร์ที่ติดตั้งไว้ เซนเซอร์จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนผ่านสายไปยังกล่องแสดงผลซึ่งสามารถดูเห็นภาพสภานการณ์แบบ Real time บนแผนที่แบบ 2 มิติ และ 3 มิติ จากนั้นเจ้าหน้าที่ควบคุมอยู่ จะติดตามทิศทางการเคลื่อนไหว ซึ่งหากเป็นบุคคลที่ลักลอบเข้ามาหรือยานพาหนะที่สนับสนุนการขนย้าย เจ้าหน้าที่ก็จะทำการเข้าจับกุมทันที
ปัจจุบัน ผลงาน “รั้วไร้สาย” ได้นำไปใช้จริงในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณจังหวัดจันทบุรี นอกจากนี้ ยังได้นำไปประยุกต์ใช้ในการแจ้งเตือนภัยพิบัติให้กับประชาชนในพื้นที่บ้านผามูบ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และบ้านบ่อหลวง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน อีกทั้งยังได้ทดสอบการใช้งานแจ้งเตือนช้างป่าเข้ามาในพื้นที่ชุมชน ในตำบลทับช้าง อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี