Last updated: 6 พ.ย. 2567 | 153 จำนวนผู้เข้าชม |
บริษัท อมตะ ยู จำกัด และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อศึกษาและพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยมุ่งหวังพัฒนาศักยภาพเพื่อเสริมความมั่นคงและสร้างความยั่งยืนในการบริหารทรัพยากรน้ำให้เพียงพอต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ ยู จำกัด หรือ อมตะ ยู กล่าวว่า อมตะ ยู เป็นบริษัทของกลุ่มอมตะซึ่งดำเนินธุรกิจจัดหาและให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงานที่มั่นคง ยั่งยืน ครบวงจร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มอมตะทั้งในและต่างประเทศ อมตะ ยู มุ่งมั่นให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงานที่มีคุณภาพสูงและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าและส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและการบริหารจัดการที่มีธรรมาภิบาล
การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการศึกษาและบริหารจัดการน้ำตลอดจนพัฒนาทรัพยากรน้ำดิบให้เกิดประโยชน์ในเรื่องของความมั่นคงของน้ำเพื่อรองรับความต้องการน้ำในระยะยาวของภาคอุตสาหกรรมในพืนที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใต้ขอบเขตความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงระยะเวลา 12 เดือน โดยจะร่วมกันศึกษาศักยภาพของแหล่งน้ำดิบของอมตะ ยู และการเชื่อมโยงโครงข่ายท่อน้ำของอีสท์ วอเตอร์ความยาว 565 กิโลเมตร ซึ่งอมตะเองก็มีแหล่งน้ำที่พัฒนาแล้วถือว่าเป็นนิคมที่มีปริมาณน้ำสำรองมากที่สุดเพื่อสร้างระบบส่งน้ำที่มีเสถียรภาพ เพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ รองรับการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
“อมตะ ยู มีความเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพในด้านการบริหารจัดการน้ำดิบในช่วงวิกฤตน้ำแล้งรวมถึงในสถานการณ์ปกติ ภายในนิคมเองมีแหล่งน้ำดิบเหลือใช้ในพื้นที่ของนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ ผ่านโครงข่ายท่อของอีสท์ วอเตอร์ เพื่อสนับสนุนการผลิตในโรงงานตลอดทั้งปี และในช่วงการเติบโตของพื้นที่ อีอีซี จะมีการจัดส่งน้ำดิบเพิ่มเติมในปริมาณที่กำหนด ซึ่งจะช่วยลดภาระของภาครัฐในการส่งน้ำจากในพื้นที่อุตสาหกรรมภาคตะวันออก” นายชวลิต กล่าว
ดร.เพ็ชร ชินบุตร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ กล่าวว่า การร่วมศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี เน้นการศึกษาศักยภาพแหล่งน้ำดิบระหว่างอีสท์ วอเตอร์ และ อมตะ ยู โดยนำน้ำดิบดังกล่าวมาบริหารจัดการส่งโดยโครงข่ายท่อของ อีสท์ วอเตอร์ เพื่อเสริมความมั่นคงเสถียรภาพด้านแหล่งน้ำและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ตลอดจนตอบสนองความต้องการของผู้ใช้น้ำระยะยาวในพื้นที่ภาคตะวันออกให้เป็นเขตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ
อีสท์ วอเตอร์ พร้อมดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วนในทั่วประเทศโดยให้ความสำคัญแก่ผู้ใช้น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซีเป็นหลัก โดยพัฒนาท่อส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
1. โครงการท่อส่งน้ำดิบมาบตาพุด-สัตหีบ
2. โครงการท่อส่งน้ำดิบ หนองปลาไหล -หนองค้อ-แหลมฉบัง เพื่อที่จะตอบสนองการรับส่งน้ำในเขตนิคมอุตสาหกรรม
3. โครงการก่อสร้างระบบท่อส่งสายคลองหลวง-ชลบุรี เพื่อที่จะสามารถรับส่งน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรี
เพื่อให้โครงข่ายท่อส่งน้ำ (Water Grid) ของอีสท์ วอเตอร์ มีความสมบูรณ์มั่นคง และแข็งแกร่งในภาคตะวันออกรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น สร้างการเติบโต และเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำให้แก่ พื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งจะเป็นเมืองใหม่ได้อย่างยั่งยืน
ความร่วมมือของทั้งสองบริษัทในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำครบวงจรให้เต็มประสิทธิภาพในพื้นที่อีอีซีพร้อมตอบสนองนโยบายของภาครัฐ และแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืนอีกด้วยตลอดเวลาที่ผ่านมาการดำเนินงานของอีสท์ วอเตอร์ ได้สร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่องพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์ผู้นำในการสร้างความมั่นคงของการจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำครบวงจรของประเทศด้วยสมาร์ทเทคโนโลยีสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการบริหารจัดการที่โปร่งใสมีธรรมาภิบาลเพื่อเป็นรากฐานสู่ความยั่งยืนความร่วมมือในครั้งนี้ยังรวมถึงการศึกษาแผนบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร ทั้งน้ำดิบ น้ำอุตสาหกรรม น้ำเสียและการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนารูปแบบธุรกิจและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพของแหล่งกักเก็บน้ำและโครงข่ายท่อน้ำ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี เป็นไปอย่างยั่งยืนมีประสิทธิภาพสูงสุด และพัฒนาการบริหารทรัพยากรน้ำภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีความมั่นคงและต่อเนื่อง