ทิศทางและความท้าทาย นาโนเทค 2025 ชู กลยุทธ์ 4SF ผลักดันนวัตกรรมกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน

Last updated: 17 ธ.ค. 2567  |  90 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทิศทางและความท้าทาย  นาโนเทค 2025 ชู กลยุทธ์ 4SF ผลักดันนวัตกรรมกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีไม่ได้เป็นแค่แนวคิดหรือสิ่งที่อยู่ในห้องแล็บอีกต่อไป แต่ถูกพัฒนาและนำมาใช้งานในชีวิตประจำวันอย่างกว้างขวางในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของมนุษย์  ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกที่กำลังก้าวสู่ยุคดิจิตอลมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในทุกภาคส่วนอย่างแพร่หลาย มีการลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความได้เปรียบทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ


สำหรับประเทศไทย นาโนเทค เป็นหน่วยงานสำคัญของประเทศที่มีบทบาทในการพัฒนาและส่งเสริมการวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีและเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับสากล โดย นาโนเทค (National Nanotechnology Center) จัดตั้งขึ้นภายใต้การดูแลของ NSTDA มีหน้าที่หลักในการพัฒนาเทคโนโลยีนาโน โดยมุ่งเน้นการนำไปใช้จริงในด้านต่างๆ เช่น การแพทย์, การเกษตร, วัสดุศาสตร์, และอุตสาหกรรมต่างๆ

การทำงานของนาโนเทคเน้นการวิจัยและพัฒนา (R&D) พร้อมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ, ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย เพื่อผลักดันเทคโนโลยีนาโนให้เกิดการใช้งานจริงในสังคมและเศรษฐกิจไทย การนำเทคโนโลยีนี้มาใช้มีเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนายาใหม่ๆ, วัสดุอัจฉริยะ, และเทคโนโลยีในการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง.

บทบาทและทิศทางของนาโนเทค 2025

การเปิดบ้านต้อนรับสื่อมวลชนเข้าไปเยื่อมชม ภายในศูนย์นาโนเทค สวทช.ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ จ. ปทุมธานี ภายใต้การนำของ “ ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย” จึงเป็นการฉายภาพทิศทางและเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจน ผ่าน “4SF” หรือกลไกการผลักดันเทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน (improve quality of life) ได้แก่ สารสกัดสมุนไพร, ชุดตรวจสุขภาวะ, เกษตรและอาหาร และ น้ำและสิ่งแวดล้อม มุ่งเป้าแก้ปัญหาตามโจทย์ความต้องการของประเทศ พร้อมอวดโฉมนวัตกรรมนาโนเทค 2025 อาทิ ไข่สุขภาพหรือไข่โอเมก้า-3, MOFs ดูดซับ CO2 , เทคโนโลยีเปลี่ยน CO2 เป็นสารเคมีที่มีมูลค่าสูง และอื่นๆ อีกมาก เล็งจัดตั้งบริษัทสตาร์ตอัพ 2 บริษัท ในด้านสมุนไพรและการแพทย์ และขยายการใช้ประโยชน์นวัตกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่ม 5% เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เสริมแกร่งความสามารถในการแข่งขัน รับลูกนโยบายรัฐบาล ยกระดับนวัตกรรมไทยเพื่อคนไทย อุตสาหกรรมไทย


ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล่าให้ฟังว่า 21 ปีที่ผ่านมา นาโนเทคเติบโตอย่างมั่นคง มีบุคลากรหลากหลายสาขา ด้านนาโนเทคโนโลยีที่ทำงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง มีกำลังคนสายงานสนับสนุนที่เป็นกำลังเสริมในด้านต่างๆ เพื่อนำนวัตกรรมส่งถึงมือผู้ใช้  เช่น


"เสื้อนาโน มุ้งนาโน โลชั่นกันยุงนาโน SOS Water เครื่องผลิตน้ำพลังแสงอาทิตย์ หรือไข่ออกแบบได้" นวัตกรรมในยุคแรกๆ ของนาโนเทค ที่มีการต่อยอดทั้งในเชิงการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชน รวมถึงเชิงสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะในช่วงภาวะฉุกเฉิน ก่อนขยับสู่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าเดิม เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่ผู้ใช้ต้องการ อาทิ เวชสำอางจากพืชสมุนไพรต่างๆ อาทิ เห็ดหลินจือ หรือกลุ่ม Herbal Champion, แผ่นกรองอากาศต้านเชื้อราแบคทีเรีย หรือการตอบโจทย์ความต้องการเร่งด่วนอย่างการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อาทิ ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 (NANO Covid-19 Antigen Rapid Test), หมวกแรงดันบวก- ลบ ลดการแพร่เชื้อหรือสารฆ่าเชื้อต่างๆ” ดร. อุรชา ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค กล่าวพร้อมย้ำว่า นาโนเทค 2025  เราจะ "รุก" ให้มากขึ้น

ชูกลยุทธ์หลัก 4 Strategic Focus (SF) ตอบโจทย์สังคม

การนำเสนอแนวทาง "4SF" เป็นการย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน ในการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ภาครัฐเองไม่เพียงแต่ให้การสนับสนุนด้านการเงินและการวิจัยเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริง

การลงทุนในเทคโนโลยีนาโนสามารถสร้างประโยชน์ในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นในอุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมเกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้วัสดุนาโนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าและบริการ สิ่งนี้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้เทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในประเทศและในระดับสากล

ดังนั้น นาโนเทค สวทช. ในปี 2568 นี้จะรุกหนักขึ้น เดินหน้าตามแนวคิด Innovate, Collaborate and Grow ที่จะให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัย คือ นวัตกรรม, ความร่วมมือกับพันธมิตร และการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์ที่เรียกว่า 4 Strategic Focus (SF) หรือกลไกการผลักดันเทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน (improve quality of life) เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยนาโนเทค ที่มุ่งเป้าเพื่อแก้ไขปัญหาตามโจทย์ความต้องการของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เสริมแกร่งความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ สารสกัดสมุนไพร, ชุดตรวจสุขภาวะ, เกษตรและอาหาร และ น้ำและสิ่งแวดล้อม


ดร. อุรชา ยังกล่าวอีกว่า 1 ปีจากนี้ เราจะเห็นผลงานต่างๆ ของแต่ละ SF ถึงมือผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก SF สารสกัดสมุนไพรที่สารสกัดกระชายดำสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ 3 บริษัท สร้างรายได้ให้กับประเทศ ยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยสู่ระดับสากล พร้อมตั้งเป้าต่อยอดสู่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่คาดว่าจะใช้สารสกัดสมุนไพรเพิ่มขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับ SF ชุดตรวจสุขภาวะ ที่จับมือพันธมิตรสำคัญอย่างสภาเภสัชกรรมและ สปสช. ผลักดัน “ชุดตรวจคัดกรองโรคไต” เข้าสู่ระบบร้านยาของรัฐ และเตรียมขยายสู่ชุดตรวจทางการแพทย์อื่นๆ รวมไปถึงตลาดใหม่อย่างการวิจัยและพัฒนาไปสู่คุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยง

ด้าน SF น้ำและสิ่งแวดล้อม นอกจากเรื่องน้ำสะอาดที่นาโนเทควิจัยพัฒนาระบบกรองน้ำอุปโภคและบริโภคสำหรับชุมชน และขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดการคุณภาพน้ำสู่ผู้ใช้ประโยชน์หลายพื้นที่ในไทย ยังมีเรื่องของ วัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ หรือ Metal Organic Frameworks (MOFs) เป็นวัสดุดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประสิทธิภาพสูง และการแปลงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 conversion) ในภาคอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ โรงไฟฟ้า โรงกลั่นปิโตรเคมี ที่นาโนเทคมีความร่วมมือกับเอกชนยักษ์ใหญ่หลายรายโดยเฉพาะ SCG ไทยออยล์ และปตท.สผ. เพื่อสอดรับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

SF เกษตรและอาหาร มุ่งเป้าด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) โดยเฉพาะด้านการขจัดความอดอยาก (SDG 2) และนโยบายของภาครัฐด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เริ่มจาก “ไข่สุขภาพหรือไข่โอเมก้า-3” เป็นนวัตกรรมยกระดับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง และปุ๋ยคีเลตหรือสารคีเลตจุลธาตุอาหาร เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยหลัก ลดการสูญเสียธาตุอาหารและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


“นอกจากผลงานที่จะเห็นจาก 4SF นาโนเทค 1 ปีจากนี้ จะมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและชุมชนด้วยแนวคิด innovation solution ขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรมนาโนเทคให้มากที่สุด, ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร 2 ชนิด ได้แก่ กระชายดำ และบัวบก รวมถึงจัดตั้งบริษัทสตาร์ตอัพ 2 บริษัท ในด้านสมุนไพรและการแพทย์คาดว่าจะดำเนินกิจการได้ในปี 2568  เป้าหมายคือ เราคาดหวังจะเพิ่มผู้ที่ได้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมของเรา ไม่ว่าจะเป็นบริษัท หน่วยงาน หรือชุมชนที่นำผลงานไปใช้ประโยชน์ วางโจทย์ไว้ว่า จะเพิ่ม 5% จากจำนวนผู้ที่นำผลงานไปใช้ประโยชน์ 2580 ราย 67 องค์กรในปี 2567” ดร. อุรชากล่าว

นาโนเทคกับเป้าหมายระยะยาวในอนาคต

ผอ. นาโนเทคย้ำว่า ผลงานที่ผ่านมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เป้าหมายของนาโนเทค ระยะยาวคือ 4 ปีจากนี้ คือ ผลงานด้านงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมถูกนำไปใช้ประโยชน์มากกว่า 50 บริษัท/หน่วยงาน/ชุนชน  สร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นมูลค่ากว่า 5.000 ล้านบาท ช่วยให้ประชาชนได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เชื่อมโยงโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคชุมชน ประชาชน สอดรับกับนโยบายรัฐบาล ทั้งในแง่ของนโยบายเร่งด้านด้่านการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย SMEs และการเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตร ยกระดับรายได้เกษตรกร และนโยบายของภาครัฐในระยะกลาง-ยาว ในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ การส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว และการมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ และบริการทางการแพทย์ การยกระดับการบริหารจัดการน้ำ และสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน การผลักดันนวัตกรรมด้วย "นาโนเทค 2025" จึงไม่เพียงแต่เป็นการพัฒนาทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ที่มั่นคง โดยใช้เทคโนโลยีนาโนเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้