Last updated: 22 มี.ค. 2568 | 88 จำนวนผู้เข้าชม |
ใครจะคิดว่ากาแฟหอมกรุ่นที่เราดื่มกันทุกวัน ซึ่งเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่ผู้คนทั่วโลกต่างหลงใหล ด้วยรสชาติที่เข้มข้นทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ตาสว่างแล้ว จะทิ้งของเหลือไว้มากมายจนเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เปลือกกาแฟ กากกาแฟ ไปจนถึงกะลากาแฟ ล้วนกลายเป็นขยะที่สร้างมลพิษ โดยเฉพาะ กะลากาแฟ ที่ย่อยสลายยากถึง 10 ปี ทำให้ดินเสื่อมโทรมและน้ำเน่าเสีย
จากปัญหาดังกล่าว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ (ศนย.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ไม่ปล่อยให้ของเหลือทิ้งไปเปล่า ๆได้วิจัยและพัฒนา "เทคโนโลยีผลิตถ่านคาร์บอนจากของเหลือทิ้งกาแฟ" โดยนำกะลากาแฟและเปลือกกาแฟมาเปลี่ยนเป็น "ถ่านคาร์บอนคุณภาพสูง" จุดเด่นคือ ให้ความร้อนสูง ติดไฟง่าย ไหม้นาน ไม่มีควัน ไม่แตกประทุ
จากของเหลือ... สู่พลังงานทางเลือก
การผลิตถ่านคาร์บอนจากของเหลือทิ้งแปรรูปกาแฟดังกล่าว ให้เป็น "ถ่านคาร์บอน" ที่ใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ 1. นำของเหลือทิ้ง เช่น เปลือกกะลากาแฟ และเปลือกกาแฟเชอรี่ มาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต 2. ออกแบบเตาเผาและจำลองสถานการณ์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พร้อมจำลองสถานการณ์ (Simulation) การเผาไหม้ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมทั้งทดสอบการกระจายตัวของความเร็วอากาศภายในเตาเผา เพื่อสร้างเตาเผาถ่านคาร์บอนต้นแบบซึ่งมีรูปทรงที่เหมาะสม 3.การเพิ่มและควบคุมกระบวนการเผาไหม้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ยังพัฒนาสูตรผสมและกระบวนการอัดขึ้นรูป เพื่อผลิตถ่านอัดแท่งที่มีคุณภาพสูง 4. ถ่ายทอดเทคโนโลยี ทักษะความรู้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าจากของเหลือทิ้งและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน
“เทคโนโลยีผลิตถ่านคาร์บอนจากของเหลือทิ้งกาแฟ” ประกอบด้วย
1.ต้นแบบเตาเผาถ่าน ที่มีประสิทธิภาพในการแปรรูปวัสดุเหลือทิ้ง เช่น กะลากาแฟและ กะลากาแฟผสมเนื้อเชอรี่ ให้กลายเป็นถ่านอัดแท่งที่มีคุณภาพสูง
2.ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ถ่านคาร์บอนที่ผลิตได้สามารถใช้เป็นพลังงานทดแทน ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและไม้ฟืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังช่วยจัดการของเสียจากการแปรรูปกาแฟอย่างยั่งยืนในชุมชน
3. เตาเผาถ่านคาร์บอน ผลิตถ่านคาร์บอนได้ 15 กิโลต่อรอบ เผาแค่ 1 ชั่วโมงก็ได้ใช้แล้ว
4. นอกจากการออกแบบและสร้างต้นแบบเตาเผาถ่านคาร์บอนแล้ว ยังมีการพัฒนาเครื่องบดผสมและเครื่องอัดถ่านจากวัสดุเหลือทิ้ง ทำให้การใช้งานตอบโจทย์ได้ครบวงจร
วว.นำร่องถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตถ่านคาร์บอนให้กับชุมชนที่เป็นผู้ปลูกและแปรรูปกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น วิสาหกิจชุมชนกาแฟดอยหลวง จังหวัดเชียงราย(มีกำลังการผลิตกาแฟเฉลี่ย 500 ตัน/ปี) และกาแฟเทพเสด็จ จังหวัดเชียงใหม่ (มีกำลังการผลิตกาแฟเฉลี่ย 300 ตัน/ปี) ให้เอาของเหลือไปสร้างรายได้แทนการทิ้งเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจในชุมชนอย่างยั่งยืน
ผลลัพธ์สุดปัง!
ลดการตัดไม้ ลดขยะ ลดแก๊สเรือนกระจก สร้างอาชีพและรายได้ใหม่ ๆ ให้ชุมชนและ
ใช้เป็นพลังงานทดแทนแทนฟืนและแก๊ส
ตอนนี้ วว. จดอนุสิทธิบัตรการออกแบบเตาเผาถ่านคาร์บอนจากกะลากาแฟแล้ว และกำลังขยายผลให้ทั่วประเทศ ในอนาคต วว. มุ่งขยายผลการดำเนินงานนี้ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งพลังงานทดแทนในชุมชนต่าง ๆ ของประเทศให้ยั่งยืนต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ วว. ติดต่อได้ที่ call center โทร. 0 2577 9000 หรือที่ระบบบริการลูกค้า “ วว. JUMP “