"5 นวัตกรรม ฉลาดทิ้ง เปลี่ยนขยะให้เป็นพลัง ปั้นเมืองสีเขียวด้วยสถานีจัดการขยะอัจฉริยะ (Waste Wise Station) ปุณณวิถีโมเดล

Last updated: 11 เม.ย 2568  |  154 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"5 นวัตกรรม ฉลาดทิ้ง เปลี่ยนขยะให้เป็นพลัง ปั้นเมืองสีเขียวด้วยสถานีจัดการขยะอัจฉริยะ (Waste Wise Station) ปุณณวิถีโมเดล

การจัดการขยะ นับเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายหันมาตระหนักและให้ความสำคัญอย่างมาก ในปัจจุบันขยะจำนวนมากถูกนำไปฝังกลบในหลุมฝังกลบซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะต่อระบบนิเวศในท้องถิ่น ปล่อยมลพิษ ที่เป็นอันตราย และก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนมากมาย   และถ้ายังไม่มีการกำจัดขยะอย่างเป็นรูปธรรมคาดว่าจำนวนขยะจะเพิ่มมากขึ้น


จากปัญหานี้จึงนำมาซึ่งความร่วมมือของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมสังคมรีไซเคิลอย่างยั่งยืน  ตลอดจนสร้างโอกาสให้กับกลุ่มธุรกิจและผุ้ประกอบการไทย


ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวว่า NIA ในฐานะ “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)” ได้ร่วมมือกับสถานศึกษาและสตาร์ทอัพพัฒนา “สถานีจัดการขยะอัจฉริยะ” โดยเริ่มต้นทดลองใช้ที่ สจล. (KMITL) และประสบความสำเร็จ ก่อนนำมาใช้งานจริงที่ ปุณณวิถี / ทรู ดิจิทัล พาร์ค เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องในการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ  ประเภทขยะที่รับ:  ขวดพลาสติกน้ำมันใช้แล้ว   เศษอาหาร  แก้วพลาสติก  และเสื้อผ้า   สำหรับโครงการเป็นการโชว์ในเรื่องของนวัตกรรม ของกรีนเทคโนโลยี และเรื่องของ waste  ส่งเสริม Green Technology และแนวคิด Zero Waste  เปลี่ยนขยะให้กลับมามีคุณค่าและใช้ประโยชน์ได้  เป็นนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงง่าย  และส่งเสริมความยั่งยืน

ในอนาคตวางแผนขยายไปยัง มหาวิทยาลัยอื่นๆ , โลตัส, แม็คโคร, คอนโด, ห้างสรรพสินค้าและชุมชน ตามความเหมาะสม   สำหรับจุดเด่นของอุปกรณ์ทั้ง 5 ประเภทนี้ออกแบบมาเพื่อจัดการขยะเฉพาะทางแต่ละประเภท และส่งเสริมการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ดังนี้


TRUE: นวัตกรรมจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste)  บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)   มุ่งลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ฝังกลบเป็นศูนย์ ผ่าน True e-Waste Vending Machine ตู้อัจฉริยะรับขยะ e-Waste อัตโนมัติ พร้อมแสดงผลค่าคาร์บอนและรายงานแบบเรียลไทม์ หนุนกรุงเทพฯ สู่ Smart City และติดตั้ง สถานีฉลาดทิ้ง ที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค เพื่อแยกขยะอย่างถูกวิธีตามมาตรฐานสากลโดยมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำไปฝังกลบให้เป็นศูนย์ภายในปี 2573  ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร โดยนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร กล่าวว่า ทรู ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในมิติสิ่งแวดล้อม คือ การลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ฝังกลบให้เป็นศูนย์ (Zero e-Waste to landfill)

OKLIN: ระบบย่อยสลายขยะเศษอาหารด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ (Food Waste)


บริษัท โอ๊คลิน (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำเครื่องกำจัดขยะเศษอาหารด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งใช้จุลินทรีย์ในการย่อยสลายขยะเศษอาหาร ทำให้สามารถลดปริมาณขยะได้ถึง 80-90% ภายใน 24 ชั่วโมง ผลลัพธ์ที่ได้คือปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรหรือบำรุงต้นไม้ในเมืองได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งยังช่วยลดภาระในการจัดการขยะอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


CIRCULAR: ระบบรีไซเคิลสิ่งทอและเสื้อผ้าใช้แล้ว (Used Clothes)บริษัท เซอร์คูลาร์ อินดัสทรี้ จำกัด ได้พัฒนานวัตกรรมในการแปรรูปของเสียจากอุตสาหกรรมแฟชั่น  อาทิ เศษผ้าจากการตัดเย็บ เสื้อผ้าใช้แล้ว และแฟชั่น โดยนำมาคัดแยกตามเฉดสีและแปรรูปเป็นผ้าหลากสีใหม่โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการฟอกย้อม ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงาน น้ำ และสารเคมี พร้อมทั้งเปลี่ยนขยะสิ่งทอให้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้อีกครั้ง เป็นการยืดอายุการใช้งานของทรัพยากรสิ่งทอและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

REFUN: ตู้รับคืนขวดพลาสติก PET อัตโนมัติ (Plastic Waste)


บริษัท รีฟัน จำกัด ได้พัฒนาระบบตู้รับคืนขวด PET พลาสติกใสแบบอัตโนมัติ เปลี่ยนขยะเป็นคะแนนสะสมเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการรีไซเคิลของประชาชน โดยตู้ดังกล่าวสามารถตรวจสอบประเภทของขวด คำนวณแต้มสะสม และให้รางวัลตามแคมเปญที่กำหนดไว้ ระบบนี้ช่วยกระตุ้นให้เกิดวงจรรีไซเคิลอย่างต่อเนื่อง ลดปริมาณขยะพลาสติก และสร้างคุณค่าทางสังคมผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนในเมือง


RECYCOEX: Waste Cooking Oil ตู้รับน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว เพื่อนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานอากาศยาน บริษัท รีไซโคเอ็กซ์ จำกัด ได้พัฒนาตู้รับน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว ซึ่งเป็นนวัตกรรมสำคัญในการนำน้ำมันดังกล่าวมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการช่วยลดโลกร้อน เนื่องจากสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรมการบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุตสาหกรรมการบินกำลังมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคต

ปัญหาขยะล้นเมืองในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาที่ยังแก้ไขได้ยากเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องของการคัดแยกขยะ รวมถึงการกำจัดขยะที่ถูกวิธี ตั้งแต่ต้นทาง

ดังนั้น นวัตกรรมทั้ง 5 ชิ้นไม่เพียงเป็นเครื่องมือจัดการของเสีย แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเปลี่ยนมุมมองต่อ ‘ขยะ’ ให้เป็นโอกาสใหม่ที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ เริ่มจากการแยกขยะอย่างถูกต้องและใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเมืองให้น่าอยู่ สะอาด และยั่งยืน

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้