ผลสำเร็จ! หลังการประชุมเอเปค คาดเศรษฐกิจไทยเงินสะพัด 5-6 แสนล้าน

Last updated: 22 ธ.ค. 2565  |  452 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผลสำเร็จ! หลังการประชุมเอเปค คาดเศรษฐกิจไทยเงินสะพัด 5-6 แสนล้าน

สรุปผลสำเร็จของไทยหลังการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 คาดส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ก่อเกิดเงินสะพัด 5-6 แสนล้าน

วันที่ 21 ธันวาคม 2565 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยสรุปผลสำเร็จว่า เศรษฐกิจไทยในช่วง 3-5 ปี ไทยจะได้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค 2022 ระยะสั้นจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1- 2 แสนคนซึ่งจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 ล้านบาท

พร้อมกันนั้นได้สรุปภาพรวมการจัดงานการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 และการประชุม APEC CEO Summit 2022 ว่าจะส่งผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในช่วง 3-5 ปีข้างหน้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 5-6 แสนล้านบาท

สำหรับประโยชน์ระยะสั้น (ภายใน 3-6 เดือน) จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ และSoft Power ความเข้าใจต่อไทยผ่านการประชาสัมพันธ์ อาหาร และวัฒนธรรมไทยที่ได้นำเสนอผ่านการประชุมและงานเลี้ยงรับรองต่าง ๆ ซึ่งสร้างประโยชน์สำคัญ 2 ประการคือ 1. ส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น 1-2 แสนคน จากอิทธิพลของสื่อต่างๆ เรื่องเอเปค โดยจะสร้างรายได้ให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องของไทยถึงประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และ 2. สร้างการรับรู้และช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ในอุตสาหกรรม BCG พลังงาน ยานยนต์ ไฟฟ้า EV เศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว และธุรกิจบริการสุขภาพ เป็นต้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยและจะช่วยให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1-2 แสนคน

สำหรับประโยชน์ระยะยาว (ภายใน 3-5 ปี) คาดว่าจะสร้างการลงทุน FDI มูลค่าประมาณ 6 แสนล้านบาท ภายใน 3-5 ปี จากปัจจัยต่อไปนี้

1. การค้าและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างไทยกับจีน ทั้งนี้ ในห้วงการประชุมที่ผ่านมา ไทยและจีนเห็นพ้องกันในการเพิ่มมูลค่าและอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ พร้อมทั้งส่งเสริมการลงทุนซึ่งกันและกันในอุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ไทย-จีนจะใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP และส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงทางราง รวมถึงการดำเนินการโครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งคาดว่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 แสนล้านบาท

2. การค้าและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างประเทศไทยกับซาอุดีอารเบียและกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ 6 (GCC) โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย 12 สาขาในด้านพลังงาน ปิโตรเคมี เกษตร เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพและบริการ ในพื้นที่ EEC คาดว่าจะมีมูลค่าโดยรวมประมาณ 1-3 แสนล้านบาท

3. การลงทุนในอุตสาหกรรม BCG ยานยนต์ไฟฟ้า และพลังงานทดแทนที่มาจากประเทศอื่นนอกจากจีนและซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 5 หมื่น - 1 แสนล้านบาท

4. การลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล E-commerce และ Robot ที่มาจากประเทศอื่นนอกจากจีนและซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 5 หมื่น - 1 แสนล้านบาท

5. การลงทุนในธุรกิจบริการอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยว การบริการสุขภาพและความงาม และโลจิสติกส์ ที่มาจากประเทศอื่นนอกจากจีนและซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 5 หมื่น - 1 แสนล้านบาท

 

สำหรับภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร) เห็นว่า การจัดงาน APEC ในครั้งนี้ สร้างโอกาสและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ดังนั้น โอกาสในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเปิดแล้ว และเป็นโอกาสสำคัญกับหลาย ๆ Sector อาทิ ภาคการค้าและการลงทุน จะเกิดการจ้างงาน เกิดการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้กับคนไทย รวมถึงการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีขั้นสูง ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับอานิสงส์เช่นกัน เชื่อว่าในปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นกว่าปีนี้เป็นเท่าตัว และจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเพิ่มเติมอีกในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ภาคท่องเที่ยวและบริการของไทยฟื้นตัวขึ้นได้อย่างโดดเด่น

ดังนั้นจึงอยู่ที่เราทุกคนว่าจะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งโอกาสดังกล่าวนี้ ถือเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดไหน ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเพศใด ทุกคนล้วนมีส่วนช่วยต่อยอดโอกาสนี้ ให้กลายเป็นความเข้มแข็งและความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยต่อไป

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้