"แพทย์ รพ.วิมุต" แนะวิธีอยู่ร่วมกับคนเป็น "ซึมเศร้า" ด้วยความเข้าใจ ย้ำ!"เป็นได้...ก็หายได้"

Last updated: 15 ก.พ. 2566  |  314 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"แพทย์ รพ.วิมุต" แนะวิธีอยู่ร่วมกับคนเป็น "ซึมเศร้า" ด้วยความเข้าใจ ย้ำ!"เป็นได้...ก็หายได้"

"แพทย์ รพ.วิมุต" แนะวิธีอยู่ร่วมกับคนเป็นซึมเศร้าด้วยความเข้าใจ ชวนเช็กอาการเบื้องต้นและหลากหลายแนวทางการรักษา ย้ำ! "เป็นได้...ก็หายได้"

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนึ่งในโรคที่คนไทยทุกช่วงวัยเป็นกันเยอะขึ้นเรื่อย ๆ คงจะหนีไม่พ้น “โรคซึมเศร้า” โรคทางสุขภาพใจที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โชคดีที่ในปัจจุบัน สังคมไทยเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาวะทางใจ พอ ๆ กับสุขภาพกาย ทำให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้า ไม่จำเป็นต้องเก็บอาการไว้กับตัวอีกต่อไป เพราะมีคนพร้อมที่จะศึกษาและเข้าใจโรคนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ วันนี้ พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช ศูนย์สุขภาพใจ โรงพยาบาลวิมุต จึงชวนคนไทยมาลบความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า รวมถึงแนะแนวทางการรักษา และการอยู่เคียงข้างคนรอบตัวที่เป็นซึมเศร้าด้วยความเข้าอกเข้าใจ

สถิติชี้คนไทย 1 ใน 60 เป็นโรคซึมเศร้า

“จริง ๆ แล้ว โรคซึมเศร้าถือว่าเป็นโรคที่มีสถิติจากการวินิจฉัยหรือการเข้าถึงการรักษาน้อยกว่าโรคอื่น ๆ เพราะ
หลาย ๆ คนมีอาการเข้าข่าย แต่ไม่ได้เข้ามารักษา แต่เราก็มีข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ที่ล่าสุดระบุว่ามีคนไทยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ประมาณ 1.5 ล้านคน จาก 65 ล้านคนซึ่งถือว่าเยอะ เพราะแสดงว่ามีคนไทยเป็น
โรคซึมเศร้าถึง 1 ใน 60 เลยทีเดียว” พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ กล่าว

ส่องสัญญาณบ่งชี้โรคซึมเศร้า เมื่อเศร้านาน ๆ อย่ามองข้าม

“คนรอบตัวต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้คิดไปเองว่าเศร้า เพราะภาวะซึมเศร้า คือภาวะที่สารเคมีในสมองเสียสมดุล เกิดการแปรปรวนไป ผลที่เกิดขึ้นคือ จะเกิดอารมณ์ด้านลบ เช่น เศร้า เบื่อหน่าย ซึ่งอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ด้านการกิน อาจไม่อยากกินเลยหรืออาจรู้สึกเครียดจึงกินเยอะมาก ๆ ก็มี ด้านการนอน จะนอนยาก คิดมากจนนอนไม่หลับ หรือการทำงาน เพราะอารมณ์ทางลบย่อมส่งผลต่อความคิดความอ่าน สมาธิ ความจำ บางคนอาจมีอาการวิตกกังวล หงุดหงิด ความรู้สึกหมดหวัง รู้สึกว่าตนเองเป็นภาระของคนอื่น ไม่อยากทำอะไรเลย อยากนอนอย่างเดียว ก็เป็นอาการของซึมเศร้าเช่นเดียวกัน” พญ. เพ็ญชาญา อธิบาย พร้อมเล่าว่า “ส่วนสาเหตุที่สารเคมีในสมองแปรปรวนนั้น เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ ความเครียด หรือเหตุการณ์สะเทือนใจรุนแรง ดังนั้น หากคนในครอบครัวเป็นซึมเศร้าหรือเคยเจอความผิดหวังรุนแรง ก็อาจมีความเสี่ยงกว่าคนอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนที่เจอเรื่องเศร้าต้องเป็นซึมเศร้าเสมอไป เพราะบางคนอาจมีความเสี่ยงต่อโรคอยู่แล้ว นอกจากนี้ก็ยังมีโรคซึมเศร้ารูปแบบอื่น ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งคุณแม่ถึงประมาณ 3 ใน 10 มีโอกาสเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด คนในครอบครัวจึงควรสังเกตอาการและดูแลใส่ใจความรู้สึกของคุณแม่ให้มาก ๆ”

ต้องเศร้านานแค่ไหน จึงถือว่าเป็นโรคซึมเศร้า? แล้วแนวทางการรักษาเป็นอย่างไร

แพทย์ระบุว่า หากอาการที่กล่าวไว้ข้างต้นไม่หายไปโดยเร็ว แต่กลับเกิดอารมณ์ด้านลบเป็นเวลาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์หรือหลายเดือน ก็อาจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะซึมเศร้า ซึ่งแพทย์จะดำเนินการติดตามอาการและให้การรักษาต่อไปได้

“การดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะใช้การรักษาร่วมกันระหว่างยาและการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม ตัวยาก็จะช่วยปรับต้นเหตุ คือ สารเคมีในสมองที่เสียสมดุลไป นอกจากยาแล้ว แพทย์จะให้ฝึกทักษะการจัดการความเครียด การรู้เท่าทันอารมณ์และการปล่อยวางความรู้สึก ซึ่งตรงนี้อาจใช้การทำจิตบำบัดร่วมด้วย อาศัยการเปิดใจพูดคุยเพื่อให้คลายปมที่ฝังไว้ในใจ บางคนอาจเคยเกิดเรื่องแย่ ๆ ตั้งแต่วัยเด็กหรือคิดว่าตัวเองไม่เก่งไม่ดีเหมือนคนอื่น การคุยกับนักจิตบำบัดก็จะช่วยได้” แพทย์ประจำศูนย์สุขภาพใจ รพ. วิมุต กล่าว

พญ. เพ็ญชาญา แนะนำว่าโรคซึมเศร้า เป็นโรคที่หากมาปรึกษาเร็ว รักษาเร็ว ก็หายได้เร็ว ไม่ต้องรอเป็นอาการหนัก เพราะหากเป็นแล้ว ก็ควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพราะมันเป็นโรคที่หายขาดได้จริง ๆ “ถ้าเป็นไปได้ ให้พยายามสังเกตอาการตัวเอง ถ้ามีคนที่เราไว้ใจ ก็อาจจะปรึกษาหรือระบายให้เขาฟังได้ อย่าเก็บไว้คนเดียว แล้วก็รีบไปปรึกษาแพทย์”

จะทำตัวอย่างไร ในวันที่คนใกล้ชิดเป็นซึมเศร้า?

หลาย ๆ คนคงจะเคยได้ยินว่ากำลังใจและแรงซัพพอร์ตจากคนรอบข้างเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยให้คนเป็นโรคซึมเศร้าหายจากอาการได้โดยเร็ว ซึ่งแพทย์ก็ยืนยันเช่นนั้น โดยคนใกล้ตัว โดยเฉพาะคนในครอบครัว ควรช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจผู้ป่วย ช่วยจับมือเขาไว้ให้ผ่านช่วงเวลาที่มืดมนไปให้ได้ และที่สำคัญคือ การทำความเข้าใจกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ป่วย “ต้องยอมรับความเข้าอกเข้าใจจากคนใกล้ชิดเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้ เช่น เมื่อคนที่เรารักมีอาการเข้าข่าย เราสามารถแสดงความห่วงใยอย่างจริงใจและแนะนำให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ได้ ซึ่งเราสามารถไปเป็นเพื่อน พร้อมกับศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจ เช่น ผู้ป่วยซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการหลอนหรือได้ยินเสียงแว่ว นึกว่าคนอื่นพูดไม่ดีเกี่ยวกับเขา ซึ่งเมื่อเราทราบเช่นนี้ เราก็จะไม่ตัดสินว่าคนที่เรารักเขาคิดไปเอง เป็นต้น

และอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้เกี่ยวกับโรคนี้ คือ ผลข้างเคียงจากกลุ่มยาของโรคซึมเศร้า โดยยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้ามี 30 - 40 ชนิด แต่ละตัวมีผลข้างเคียงมากน้อยต่างกันไป บางตัวอาจทำให้เบื่ออาหาร พะอืดพะอมในช่วงแรก ๆ บางตัวก็อาจทำให้ง่วง โดยผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงเพื่อปรับขนาดยาหรือเปลี่ยนตัวยาไปเลย ซึ่งอาจต้องให้คนใกล้ตัวช่วยสังเกตอาการด้วย” พญ. เพ็ญชาญา แนะนำ

แพทย์แนะสิ่งที่ควรพูดและไม่ควรพูดกับคนเป็นซึมเศร้า

หัวใจของการดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าคือ การเปิดใจรับฟัง ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่ตัดสินคนที่เรารัก หากผู้ป่วยหันหน้ามาปรึกษา เราก็ไม่ควรถามว่า “ร้องไห้ทำไม ทำไมต้องเศร้าด้วย มีอะไรให้เศร้า ทำไมไม่ออกไปทำอะไรสนุก ๆ บ้าง” เพราะตามที่แพทย์ระบุไปข้างต้นว่าผู้ป่วยไม่สามารถหยุดเศร้าได้ในช่วงขณะนั้น สิ่งที่เราทำได้ คือแค่อยู่ข้าง ๆ และเป็นเซฟโซนให้แก่เขา “คำที่ควรและไม่ควรพูดมันขึ้นอยู่กับน้ำเสียง สีหน้าท่าทางในการพูดด้วย ถ้าเราพูดด้วยความจริงใจ เขาก็รับรู้ได้ แน่นอนว่าถ้าพูดด้วยความรู้สึกรำคาญ เขาก็รับรู้ได้เช่นกัน เหมือนอย่างเราขอบคุณหรือขอโทษส่ง ๆ อย่างนี้ก็อย่าพูดดีกว่า สิ่งที่ควรทำคือ ทำให้เขาสบายใจ เช่น บอกว่าเราอยู่ตรงนี้นะถ้าต้องการอะไร หรืออาจถามเขาว่ามีอะไรให้ช่วยไหมและอยากให้ช่วยยังไงบ้าง ให้เขารู้สึกอุ่นใจว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในช่วงเวลาที่รู้สึกแย่” พญ. กล่าว

ถ้าคนใกล้ตัวเป็นซึมเศร้า เราจะเสี่ยงเป็นด้วยไหม

แน่นอนว่าเมื่อคนรอบข้างหงุดหงิดและเศร้าหมอง ก็ทำให้บรรยากาศในบ้านอึมครึม ไม่สดใส ก็อาจส่งผลให้อารมณ์เรามันขุ่นมัวตามไปด้วย เรื่องนี้ พญ. เพ็ญชาญา กล่าวว่า “สมมติคนใกล้ชิดเป็นซึมเศร้าแล้วเรารู้สึกว่ามันกระทบอารมณ์เราจนรู้สึกแย่ เราก็อาจต้องดูแลใจตัวเองก่อนและขอความช่วยเหลือด้วยเช่นกัน อย่าละเลยตนเอง ในวันที่ไม่ไหวก็ถอยออกมา ลองหาคนที่พร้อมช่วยดูแลมากกว่าเรา ถ้ากลับมาไหวค่อยกลับไปช่วย ไม่ต้องกดดันตัวเองมากเกินไป”

สุดท้ายคุณหมอกล่าวทิ้งท้ายว่า “อยากบอกว่า สำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า อย่าโทษตัวเองหรือมองว่าตัวเองอ่อนแอ อยากย้ำว่ามันไม่ได้น่าอายหรือเป็นเรื่องผิดที่เราคิดบวกไม่ได้ มันเป็นโรคที่ต้องรักษา เหมือนเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ให้รีบมาพบแพทย์และเดินหน้ารักษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มีอะไรให้บอกคนใกล้ชิด เพราะคนที่แคร์เราจริง ๆ เขาก็อยากช่วยเหลือและอยู่เคียงข้างเราแม้ในวันที่เราป่วย”

ผู้สนใจปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์สุขภาพใจ โรงพยาบาลวิมุต สามารถนัดหมายเพื่อพบแพทย์ได้ที่ ชั้น 18 ศูนย์สุขภาพใจ โรงพยาบาลวิมุต โทร. 02-079-0078

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้