Last updated: 7 มิ.ย. 2566 | 469 จำนวนผู้เข้าชม |
"ไทย-UK"โดย ไบโอเทค มจธ. และ ม.เคนท์ ม.คอลเลจลอนดอน แถลงผลความสำเร็จ 3 โครงการร่วมวิจัย ทุนร่วมกว่า 170 ล้านบาท มุ่งเดินหน้า 2 เรื่องใหญ่ (ชีวเวชภัณฑ์ และสาหร่ายเซลล์เดียว) ตอบโจทย์อุตสาหกรรม
ที่ อว. ประเทศไทย โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. และ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับ สหราชอาณาจักร (UK) โดย ม.เคนท์ (University of Kent) และ ม.ยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน (University College London: UCL) แถลงข่าวความร่วมมือวิจัยไทย-UK ในเรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสุขภาพสัตว์ จากการวิจัยสู่การประยุกต์ใช้” ใน 3 โครงการวิจัย ทุนร่วมกว่า 170 ล้านบาทจากรัฐบาล UK และไทย เพื่อดำเนินงานใน 2 เรื่องใหญ่ ได้แก่ ชีวเวชภัณฑ์และวัคซีนสำหรับสัตว์ และเทคโนโลยีสาหร่ายเซลล์เดียวเพื่อการป้องกันโรคในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง ที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมชีวเวชภัณฑ์ และอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและปศุสัตว์ ทั้งในระดับประเทศและอาเซียน พร้อมมีส่วนสำคัญช่วยยกระดับสุขภาพและสุขอนามัยสัตว์โดยรวมให้แก่ประเทศไทย เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ยกระดับสาธารณสุข และสร้างศักยภาพนักวิจัยไทย โดยมี ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง อว. ร่วมด้วย Mr. David Thomas อุปทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. และ ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รองผู้อำนวยการไบโอเทค ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยในโครงการร่วมในงาน
ในภาพรวมของความร่วมมือระหว่างไทยและ UK ศาสตราจารย์โคลิน โรบินสัน (Prof. Dr. Colin Robinson) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยเคนต์ สหราชอาณาจักร ระบุว่า ประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เป็นผู้ผลิตอาหารที่สำคัญระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและปศุสัตว์ ปัจจุบันความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารจากอุตสาหกรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีการจัดการด้านสุขภาพสัตว์ที่มีประสิทธิภาพรวมถึงมาตรการป้องกันเพื่อรักษาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์และการจัดการโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมดังกล่าวในภูมิภาคอาเซียนมีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ จึงเล็งเห็นว่าความร่วมมือด้านวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร มีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อปิดช่องว่างทางเทคโนโลยีและสร้างขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนาในด้านสุขภาพสัตว์ โดยเฉพาะการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุสำหรับสัตว์
"เทคโนโลยีสาหร่ายเซลล์เดียวเพื่อการป้องกันโรคในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง" โดยความร่วมมือในการวิจัยเรื่องแรก เป็นผลงานที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์แล้ว คือ เทคโนโลยีสาหร่ายเซลล์เดียวเพื่อการป้องกันโรคในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากจากการระบาดของเชื้อก่อโรคต่าง ๆ ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส และปรสิต ซึ่งสร้างความสูญเสียมากถึง 60% ของผลผลิตในประเทศ และยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย โดยการติดเชื้อไวรัส แม้ว่าจะไม่ระบาดรุนแรงเหมือนช่วง 20 - 30 ปีที่แล้ว แต่ยังก่อให้เกิดความเสียหายยกบ่ออยู่อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน โดยเฉพาะการระบาดของโรคตัวแดงดวงขาว (White Spot Syndrome Virus-WSSV) และโรคหัวเหลือง (Yellow Head Virus-YHV) ที่ยังมีการรายงานการระบาดอยู่อย่างต่อเนื่องในภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทย
ศ.โคลิน โรบินสัน กล่าวในเรื่องนี้ว่า Kent ร่วมกับ UCL และไบโอเทค ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการใช้สาหร่ายเซลล์เดียว (microalgal-based platform) เพื่อการป้องกันโรคในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งในประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านโครงการร่วมวิจัย ได้แก่ โครงการ Establishment of RNAi-based algal technology for sustainable disease control in shrimp cultivation (ได้รับทุนจาก สกสว. และ The Royal Society สหราชอาณาจักร จำนวน 74,000 ปอนด์ หรือราว 3.18 ล้านบาท) และโครงการ Development of novel microalgal-based systems for shrimp disease control in South East Asia (ได้รับทุนจาก The Royal Society สหราชอาณาจักร จำนวน 219,404 ปอนด์ หรือราว 9.44 ล้านบาท)
ด้านนักวิจัยไทย ดร.วรรณวิมล ศักดิ์เสมอพรม หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพปลาและกุ้ง ไบโอเทค เปิดเผยว่า ทีมวิจัยได้พัฒนาระบบที่ใช้เทคโนโลยีการแสดงออกของยีนแบบใหม่ในการผลิตอาร์เอ็นเอสายคู่ (double-stranded RNA; dsRNA) โดยใช้คลอโรพลาสต์ของสาหร่ายเซลล์เดียวแบบไม่มียีนต้านยาปฏิชีวนะปนเปื้อนสำหรับใช้ผสมในอาหารเลี้ยงกุ้ง ซึ่งจากงานวิจัยที่ผ่านมาทีมวิจัยไบโอเทคได้ทำงานร่วมกับทีมจาก Kent และ UCL โดยสามารถผลิตอาร์เอ็นเอสายคู่ในคลอโรพลาสต์ของสาหร่ายเซลล์เดียวนี้ ซึ่งมีประสิทธิภาพยับยั้งไวรัสหัวเหลืองและไวรัสตัวแดงดวงขาว ผ่านการให้ผงสาหร่ายลูกผสมเป็นอาหารเสริมแก่ลูกกุ้ง โดยผลวิจัยล่าสุด พบว่า การให้อาหารผสมสาหร่ายเซลล์เดียวลูกผสมช่วยรักษาอัตราการรอดชีวิตของลูกกุ้งขาวจากการติดเชื้อไวรัสตัวแดงดวงขาวได้ถึง 70% โดยเทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในการป้องกันการเกิดโรคไวรัสและโรคที่เกิดจากเชื้อก่อโรคชนิดอื่นได้ทั้งในประเทศไทยและระดับภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ เครือข่ายความร่วมมือดังกล่าวยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผงสาหร่ายอาหารเสริมที่ผลิตวัคซีนรีคอมบิแนนท์ เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคให้กับทั้งกุ้งและปลา มีส่วนช่วยในการนำอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของประเทศไทยกลับเข้ามาสู่การเป็นผู้นำการผลิตสัตว์น้ำของโลกได้อีกครั้งหนึ่ง
ด้าน ศาสตราจารย์ซอล เพอร์ตัน (Prof. Saul Purton) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพสาหร่าย มหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน และผู้อำนวยการ Algae-UK กล่าวว่า ในโครงการร่วมวิจัยนี้ได้ร่วมกับ ศ. โคลิน โรบินสัน พัฒนาเทคโนโลยีวิศวกรรมซึ่งสามารถทำให้คลอโรพลาสต์ของสาหร่ายเซลล์เดียวผลิตสารชีวโมเลกุล เช่น dsRNA และโปรตีนสำหรับผลิตวัคซีน โดยเทคโนโลยีนี้มีความแม่นยำ ใช้งานง่าย และมีราคาต้นทุนต่ำ ทั้งสองกลุ่มทำงานร่วมกับนักวิจัยไบโอเทคในการพัฒนาวัคซีนสัตว์ต้นทุนต่ำโดยใช้แพลตฟอร์มสาหร่ายเซลล์เดียว เพื่อนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ด้วยความเชี่ยวชาญที่ผสมผสานกันระหว่างทีมจากสหราชอาณาจักรและทีมจากประเทศไทย การใช้สาหร่ายเซลล์เดียวต้านไวรัสในอาหารสัตว์น้ำเพื่อควบคุมโรคได้สร้างกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับการเพาะเลี้ยงกุ้งเพื่อการผลิตอาหารที่ยั่งยืนในอนาคต
"ชีวเวชภัณฑ์และวัคซีนสำหรับสัตว์" และอีกหนึ่งความร่วมมือวิจัยระหว่างประเทศคือ ชีวเวชภัณฑ์และวัคซีนสำหรับสัตว์ ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงการวิจัย ได้แก่ โครงการพัฒนาศักยภาพในการผลิตชีวเวชภัณฑ์และวัคซีนสัตว์สำหรับสัตว์ในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงการสร้างขีดความสามารถบุคลากรด้านการผลิตชีวเวชภัณฑ์และวัคซีน โดยข้อมูลปัจจุบัน พบว่า อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทยมีผู้ประกอบการเกือบ 150,000 ราย และยังมีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก “วัคซีนสัตว์” จึงนับเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมโรคจากไวรัสที่รุนแรงในสัตว์ แต่วัคซีนสำหรับสุกรในประเทศไทยเกือบทั้งหมดพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศซึ่งราคาแพงและมีประสิทธิภาพน้อยกว่า เนื่องจากสายพันธุ์ของไวรัสในท้องถิ่นนั้นแตกต่างกัน ฉะนั้น เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์และชีวภัณฑ์ในประเทศไทยและประเทศในอาเซียน สถาบันชั้นนำในสหราชอาณาจักร ประกอบด้วย Kent, UCL, Imperial College, London School of Hygiene & Tropical Medicine และสถาบันชั้นนำในประเทศไทย คือ ไบโอเทค และ มจธ. จึงได้ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการร่วมวิจัยหัวข้อการพัฒนาศักยภาพในการผลิตชีวเวชภัณฑ์และวัคซีนสำหรับสัตว์ในประเทศไทยและประเทศในอาเซียน ที่ได้รับทุนวิจัยจำนวน 3.9 ล้านปอนด์ (160 ล้านบาท) จาก The Global Challenges Research Fund (GCRF) สหราชอาณาจักร เป็นระยะเวลา 4.5 ปี (พ.ศ. 2560 - 2565)
ในผลงานนี้ ศ. โคลิน โรบินสัน กล่าวว่า โครงการวิจัยมุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มการผลิตโปรตีนรีคอมบิแนนท์ในปริมาณและคุณภาพที่จำเป็นสำหรับการใช้ผลิตยาชีววัตถุที่คล้ายคลึง (biosimilar) สำหรับมนุษย์และวัคซีนและยาชีววัตถุ (vaccine and biotherapeutics) สำหรับสุกรที่มีราคาต้นทุนต่ำ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง โดยขอบเขตความร่วมมือครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ เช่น การพัฒนาเซลล์ที่ผลิตโปรตีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนถึงปลายน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าเวชภัณฑ์สามารถผ่านมาตรฐานสากลได้
สำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวกับการปศุสัตว์ ดร.พีร์ จารุอำพรพรรณ หัวหน้าทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี ไบโอเทค เปิดเผยว่า ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการผลิตต้นแบบของวัคซีนไวรัสเซอร์โคในสุกร ชนิดที่ 2 (PCV2d) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสก่อโรค และเป็นสาเหตุหลักของกลุ่มอาการทรุดโทรมหลังหย่านมในสุกร โดยใช้การหมักแบคทีเรียและกระบวนการทำบริสุทธิ์ขั้นตอนเดียว ขยายขนาดได้ถึง 30 ลิตร ให้ผลคงที่ทั้งในห้องปฏิบัติการที่สหราชอาณาจักรและไทย ผลการทดสอบเบื้องต้นในสุกร พบว่า มีความปลอดภัยและอยู่ระหว่างประเมินประสิทธิภาพความคุ้มโรคในสัตว์ นอกจากนี้ยังได้เริ่มงานวิจัยเกี่ยวกับการผลิตอินเตอร์เฟอรอนสุกรจากการหมักยีสต์ลูกผสม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือการจัดการสุขภาพสัตว์ในฟาร์มในอนาคต เช่น เป็นสารเสริมภูมิคุ้มกัน หรือเป็นยาฉุกเฉินเพื่อจำกัดการระบาดของไวรัส โดยมีผลการผลิตในระดับห้องปฏิบัติการจากโครงการเป็นที่น่าพอใจ ได้รับทุนวิจัยต่อยอดเพื่อการผลิตในระดับใหญ่ขึ้นจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในปี 2565
ด้าน ผศ.ดร.ลลิลทิพย์ หอเจริญ นักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวเสริมว่า นอกจากการพัฒนากระบวนการผลิตวัคซีนวัคซีนสำหรับสัตว์และชีวภัณฑ์ในประเทศไทยแล้ว โครงการยังได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรด้านพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมชีววัตถุในประเทศไทย จึงส่งเสริมการฝึกอบรมตลอดระยะเวลาโครงการ ผ่านการทำวิจัยร่วม ณ หน่วยงานเครือข่าย รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรอบรมระยะสั้นด้านกระบวนการผลิต ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก the Royal Academy of Engineering, Newton Fund, สหราชอาณาจักร ภายใต้โครงการ Establishing a bioprocess workforce in Thailand to deliver affordable biological medicines through biomanufacturing education and industrial-research integration (200,000 ปอนด์ หรือราว 8.6 ล้านบาท) โดยมีความร่วมมือกับ UCL ซึ่งหลักสูตรอบรมนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมชีววัตถุ เป็นการอบรมแบบภาคปฏิบัติพร้อมกรณีศึกษาให้กับบุคลากรที่ทำงานด้านชีววัตถุจำนวน 270 คน จากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานต่างประเทศ มากกว่า 15 แห่ง ในปี 2565