Last updated: 24 ก.ค. 2566 | 181 จำนวนผู้เข้าชม |
กว่า 4 ทศวรรษที่มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ รับใช้ประชาชน ตั้งแต่สมัยอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร คณบดีท่านแรก ยังคงยึดมั่นในบทบาทแห่งการเป็น "ที่พึ่งของประชาชน" ให้บริการด้วยหัวใจ เพื่อสวัสดิภาพในการใช้ยา โดยนับเป็นร้านยาของคณะเภสัชศาสตร์ แห่งแรกในประเทศไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรศุภทัต ชุมนุมวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ และอาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน ของคณะฯ นอกจากการเป็น "ที่พึ่งของประชาชน" แล้ว ในปัจจุบันยังเป็นร้านยาคุณภาพที่เน้นบทบาทในเชิงรุก โดยจัดให้มีการ "คัดกรอง" กลุ่มเสี่ยงของโรคติดต่อไม่เรื้อรังเพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยจะเป็นการ "ปฏิวัติ" ภาพเดิมของเภสัชกรที่ประชาชนส่วนใหญ่มักเห็นและเข้าใจแต่ในมุมของบทบาทในการ "ส่งมอบยาตามใบสั่งแพทย์" โดยจะเพิ่มศักยภาพในการใช้องค์ความรู้ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำแนะนำพร้อมติดตามผลทางด้านสุขภาวะในเบื้องต้นแก่ประชาชน ตามนโยบายสาธารณสุขแนวใหม่ที่ให้ความสำคัญกับระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชุมชนที่กำลังถูกคุกคามด้วยปัญหาโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) และภัยจากการเสพติดบุหรี่ เป็นต้น เช่นเดียวกับสถานการณ์จากทั่วโลกในปัจจุบัน
อาจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงมนทยา สุนันทิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม และผู้อำนวยการสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงบทบาทของ "ร้านยาเภสัชมหิดล" ที่มีต่อชุมชน ในปัจจุบันมีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นในเชิง "เภสัชสังคม" จากการลงพื้นที่ชุมชนโดยรอบ เพื่อให้การดูแลและแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยา จากการพูดคุยสอบถาม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ป่วยโดยตรง เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเลือกหยุดกินยาบางตัวของผู้ป่วย เพราะรู้สึกวิตกกังวลในผลกระทบของยา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการรักษาที่ไม่ได้ผลเต็มที่จากการไม่รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง และทำให้ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณทางด้านสุขภาวะของชาติ
ตัวอย่างเช่น การใช้ยาเพื่อลดความดันโลหิต ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายประสบปัญหาขาบวม เท้าบวมจนใส่รองเท้าไม่ได้ แม้จะไม่ใช่อาการข้างเคียงที่ร้ายแรง แต่สร้างความกังวลให้กับผู้ป่วยค่อนข้างมาก ซึ่งเภสัชชุมชนสามารถแนะนำให้ผู้ป่วยกลับไปพบแพทย์ เพื่อบอกเล่าถึงความไม่สบายใจของตน ซึ่งแพทย์สามารถเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มอื่นที่ไม่มีผลข้างเคียงดังกล่าว จากนั้นเภสัชกรยังมีการสอบถามและติดตามผลการใช้ยา พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับยาและการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตในองค์รวมที่ดีขึ้น
นอกจากการลงพื้นที่ในชุมชนแล้ว ยังได้จัดทำ "สมุดสุขภาพ" เพื่อติดตามการรับประทานยา และการดูแลสุขภาวะของบุคลากรภายในคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ในกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) เพื่อให้บุคลากรในคณะมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างต่อเนื่องและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเภสัชกรและบุคลากรในคณะอีกด้วย
ในอนาคตอันใกล้ สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะขยายผลเปิดให้บริการ "ดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง" ให้สามารถรับยาตามสิทธิเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยจาก 16 กลุ่มอาการ ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเสีย ปัสสาวะขัด ตกขาวผิดปกติ อาการทางผิวหนังผื่นคัน บาดแผล ความผิดปกติที่ตา และหู
โดย อาจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงมนทยา สุนันทิวัฒน์ มองว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่จะช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาล ช่วยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาโรค ได้รับยาที่เหมาะสมและปลอดภัย รวมถึงการดูแลสุขภาพเบื้องต้นจากเภสัชกรชุมชน อีกทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงจากเชื้อดื้อยาในชุมชน ซึ่งเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมที่แพร่หลายในชุมชนอีกด้วย โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการดูแลประชาชนสิทธิบัตรได้ภายในอีก 2 เดือนข้างหน้า