วช. จับมือเครือข่าย จัดงาน “Thailand Research Expo2023 พร้อมโชว์ 1,000 ผลงาน

Last updated: 26 ก.ค. 2566  |  385 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วช. จับมือเครือข่าย จัดงาน “Thailand Research Expo2023 พร้อมโชว์  1,000 ผลงาน

กลับมาอีกครั้ง! กับเวทีนำเสนอผลงานวิจัยไทยระดับชาติ “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” โดย วช. ร่วมกับ เครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศจัดขึ้นเป็นปีที่ 18 พร้อมโชว์ผลงานวิจัยที่โดดเด่นแห่งปี กว่า 1,000 ผลงาน จัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่ กลางใจเมือง หวังเป็นเวทีเชื่อมโยงงานวิจัยให้ก้าวไกล และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 24 ก.ค.66 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย จัดแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 ( Thailand Research Expo 2023 )” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ภายใต้แนวคิดหลัก“ วิจัยไทยก้าวไกล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานในวันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00 น.

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในบทบาทของการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ในวงกว้าง จึงได้จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ” ขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 เพื่อเป็นเวทีระดับชาติในการนำเสนอความก้าวหน้าของผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีศักยภาพพร้อมใช้ประโยชน์ และขับเคลื่อนให้เกิดการเผยแพร่องค์ความรู้ และกระจายโอกาสในการเข้าถึงฐานข้อมูลความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีการบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างองค์กรและเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ สำหรับในปีนี้ วช. ได้จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” หรือ “ Thailand Research Expo 2023 ” ขึ้น เป็นปีที่ 18 โดยจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยกว่า 1,000 ผลงาน จากเครือข่ายระบบวิจัยร่วมจัดงาน กว่า 140 หน่วยงาน

“ความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ และทุกภาคส่วนในครั้งนี้ถือว่าเป็นการร่วมกันนำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาการผ่านผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ สามารถที่จะเชื่อมโยง องค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ อีกยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดกลไกในการพัฒนาส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้พัฒนางานวิจัย ผู้สร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม สู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้าง การจัดงานดังกล่าวจึงถือว่าเป็นกลไกความร่วมมือที่มีความเข้มแข็งของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย ในการนำผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ รวมถึงการสนับสนุน การส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องที่จะนำสู่เป้าหมายในการพัฒนาขับเคลื่อน เศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และ มนุษยศาสตร์”

สำหรับกิจกรรมภายในงานที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “วิศวกรสังคมและนวัตกรสังคม เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ยั่งยืน” โดยพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี “แก่นการพัฒนาประเทศบนพื้นฐาน SEP for SDGs” โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และ “ บทบาทของการวิจัยและนวัตกรรมต่อขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศไทย” โดย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. นอกจากนี้ยังมีการประชุมสัมมนา กว่า 100 หัวข้อ ที่มีประเด็นที่น่าสนใจทั้งเรื่องของการบริหารจัดการงานวิจัย ปัญหาสำคัญของประเทศ และเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคม อาทิ ทิศทางการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน , การยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์:ชุมชนเข้มแข็งและมาตรฐานผลิตภัณฑ์, CEO Forum for Net Zero รวมถึงการนำเสนอบทความผลงานวิจัย และการประชุมให้ความรู้ในช่วง Twilight Program

พลาดไม่ได้... คือ ภาคนิทรรศการที่น่าสนใจ อย่างเช่น นิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย และการนำเสนอนิทรรศการผลงานวิจัยจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย ซึ่งมีการนำเสนอผลงานภายใต้ 6 Theme สำคัญ ได้แก่

1) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ครอบคลุมงานวิจัยฯที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว สู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายคือ เกษตรและอาหาร พลังงานและเคมีชีวภาพ สุขภาพและการแพทย์ และการท่องเที่ยวและบริการ

2) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมงานวิจัยฯ ที่เกี่ยวกับ การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ บริการดิจิทัล รวมทั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การพัฒนาประตูการค้าการลงทุน ศูนย์กลางคมนาคมระบบโลจิสติกส์และระบบราง การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรมขนาดใหญ่(IDEs)

3) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ครอบคลุมงานวิจัยฯ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยใน15 สาขา เช่น งานฝีมือและหัตถกรรม ดนตรี การแสดง ภาพยนตร์ ซอฟต์แวร์ แฟชั่น อาหารไทย การแพทย์แผนไทยและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

4) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับสังคมอย่างยั่งยืน ครอบคลุมงานวิจัยฯ ที่เกี่ยวกับ การพัฒนาสังคมสูงวัย การพัฒนาคนทุกช่วงวัย การผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สังคมไทยไร้ความรุนแรง การคุ้มครองแรงงานไทย การพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ทันสมัยสนับสนุนการสร้างสุขภาวะที่ดี

5) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ครอบคลุมงานวิจัยฯ ที่เกี่ยวกับ สังคมคาร์บอนต่ำ การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดการขยะ

และ 6) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพของชุมชน ครอบคลุมงานวิจัยฯ ที่มีการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบาย ชุมชนสังคม และเชิงพาณิชย์ผ่านรูปแบบและกลไกต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา นิทรรศการนำเสนอบทความผลงานวิจัย การจัดกิจกรรม Highlight Stage ซึ่งเป็นเวทีหลักที่ใช้เทคนิคการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีความพร้อมใช้ประโยชน์ กิจกรรมการให้คำปรึกษาเรื่องการวิจัย และการเจรจาธุรกิจ รวมถึงการมอบรางวัลมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 การประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษา 2566 และการยกย่องเชิดชูเกียรติคุณนักวิจัย ทั้งศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น วช. และเมธีวิจัยอาวุโส วช.

ทั้งนี้ ภายในงานแถลงข่าว ฯ ดร.วิภารัตน์ ได้ร่วมเสวนาในเวที “Thailand Research Expo Talk : เวทีรวมพลังวิจัยไทยก้าวไกล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา อาทิ ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, รศ.ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร ประธานเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย : RUN , ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล, ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงช่วง “Platinum Award Talk : เสริมพลังประชาคมวิจัย ด้วยรางวัลแห่งเกียรติยศ” ซึ่ง วช.ได้เชิญผู้บริหารหน่วยงานได้รับรางวัล Platinum Award ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ” มาร่วมพูดคุย

ปีนี้ วช.ได้เปิดตัว “นายพิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร” ทูตวิจัยมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 ซึ่งจะเป็นตัวแทนพลังคนรุ่นใหม่ในการสื่อสารงานวิจัยให้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ภายในงานแถลงข่าว ฯ ยังได้มีการจัดแสดงตัวอย่างผลงานวิจัยไฮไลท์ เช่น เปลี่ยนขยะเป็นกราฟีนมูลค่าสูง ผลงานต้นแบบจากทีมวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ที่สามารถผลิตกราฟีนวัสดุแห่งอนาคตจากขยะชีวมวล ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากกว่า 1,000 เท่า หุ่นยนต์ล้างแผงโซล่าร์เซลล์ (Robotic Solar Cleaner) ผลงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่เน้นการใช้งานง่าย โดยยึดติดกับแผงโซล่าร์เซลล์ สั่งงานได้ผ่านมือถือ โครงการฟื้นฟูและต่อยอดผ้าลายอย่าง เอกลักษณ์ อยุธยา “จุฬาพัสตร์” สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ผลงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ที่ต่อยอดความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูและยกระดับลายผ้าโบราณให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความร่วมสมัยแต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์จากมรดกภูมิปัญญาของชุมชน เครื่องวัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจพร้อมการตอบสนองด้วยเสียง ผลงานจากสถาบันพระบรมราชชนก ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการคัดกรองระดับการติดบุหรี่และติดตามผลการเลิกบุหรี่ และการใช้ประโยชน์จากโปรตีนจิ้งหรีด เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟังก์ชั่นนอลฟู้ด สูตรโปรตีนสูงไขมันต่ำ และนวัตกรรมเซลล์เคมีไฟฟ้าขั้นสูงสำหรับบำบัดน้ำในระบบเลี้ยงปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โคมไฟเซราสาน ผลงานจากมหาวิทยาลัยบูรพา ที่ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่โดยใช้วัสดุไผ่ท้องถิ่นในจังหวัดชลบุรีเป็นผลงานจักสานที่บูรณาการร่วมกับผลงานเซรามิกส์ ทรายแมวจากกากมันสำปะหลัง ผลงานจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เกิดจากกากมันสำปะหลังที่เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลังที่มีแป้งเป็นองค์ประกอบหลักในปริมาณที่สูง การผลิตเครื่องปรุงรสจากปลาร้าด้วยเทคโนโลยีกล้าเชื้อจุลินทรีย์ ผลงานจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงที่สำคัญของอาหารไทย จากปลาน้ำจืดโดยกระบวนการหมักแบบธรรมชาติ ฯลฯ

งาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” หรือ “Thailand Research Expo 2023” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ที่ ห้องประชุมชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.researchexpo.go.th หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ถนนพหลโยธิน จตุจักร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2579-1370-9 ต่อ 515, 517, 518

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้