Last updated: 14 มิ.ย. 2567 | 413 จำนวนผู้เข้าชม |
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี 2566 ได้ร่วมกับโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ (กรมป่าไม้) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ปลูกป่า ได้เห็ด สร้างรายได้ เสริมอาชีพ” ณ ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 11 - 12 มิถุนายน 2567 ภายใต้ “โครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเห็ดบริโภคได้เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเกษตรที่ยั่งยืนระหว่างประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขง” เพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการในการเพาะเห็ดระโงกและเห็ดเผาะ ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถใช้พื้นที่เพื่อปลูกป่าและสร้างเป็นรายได้ให้กับครอบครัว สร้างความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่า รักษาระบบนิเวศ และปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ป่า โดยมีเกษตรกรในพื้นที่และใกล้เคียงกว่า 30 คนเข้าร่วมอบรม พร้อมดึงเชฟชื่อดังรังสรรค์เมนูอาหารแสนอร่อย ต่อยอดวัตถุดิบพื้นถิ่นเห็ดระโงกและเห็ดเผาะเพื่อออกสู่ตลาดโลก
ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง รักษาการรองผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ตลาดเห็ดเป็นตลาดที่ใหญ่ การเพิ่มมูลค่าของเห็ดด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาขับเคลื่อน เริ่มต้นจากส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกเห็ดสร้างผลผลิตได้สูงขึ้น เกิดการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งการนำองค์ความรู้ในเรื่องวิเคราะห์ทดสอบมาใช้ในการศึกษาสารสำคัญในเห็ดป่าของบ้านเรา โดยคำนึงถึงในเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค การนำส่วนไหนมาใช้ของเห็ด หรือในเรื่องของการเพาะปลูกพื้นที่ สายพันธุ์ของเห็ดที่เหมาะสม ถ้าเราสามารถหาจุดเด่นของเห็ดพื้นบ้านตรงนี้เจอ จะสามารถชูอัตลักษณ์เห็ดไทยในเวทีระดับโลกได้
การเพาะปลูกเห็ดป่านับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง เพราะเห็ดป่ากินได้จะเติบโตได้กับไม้วงศ์ยาง ทำให้ชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม แนวทางในการชูจุดเด่นของเห็ดป่ากินได้ จุดแรกคือ การสร้างการยอมรับให้คนไทยในประเทศมั่นใจในการบริโภคเสียก่อน เห็นถึงคุณประโยชน์ อร่อย และราคาที่เหมาะสม ถ้าสามารถสร้างระบบนิเวศตรงนี้ในบ้านเราได้ ตั้งแต่กลุ่มผู้บริโภค ผู้ผลิต ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย จะช่วยให้สามารถขยายไปเวทีโลกต่อไปได้ โดยจะต้องใส่ใจตั้งแต่มาตรฐานการผลิต มาตรฐานการเพาะปลูก คุณภาพของเห็ดที่ปลูก รวมถึงกระบวนการผลิตและการแปรรูปต่าง ๆ ไปจนถึงการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งเราอาจจะมองเป็น 2 ส่วนคือ เห็ดที่ใช้สำหรับการบริโภค และเห็ดที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารสำคัญทางชีวภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารโภชนาการสำหรับผู้ป่วย เป็นต้น
ดร.อัมพวา ปินเรือน หัวหน้าโครงการและนักวิจัยทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า เห็ดป่าเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและขายได้ในราคาสูง แต่ผืนป่าที่เป็นแหล่งทรัพยากรเห็ดป่าเหล่านี้ในประเทศไทยมีจำนวนลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย แม้ที่ผ่านมาหลายภาคส่วนพยายามรณรงค์ให้มีการปลูกป่าทดแทนแต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการปลูกป่าใช้ระยะเวลานาน และที่สำคัญต้องการความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่ในการร่วมปลูกและดูแลรักษาป่าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการสร้างแรงจูงใจและดึงให้ชาวบ้านมาเป็นแนวร่วมผู้ปลูกและดูแลผืนป่า โดยให้ชาวบ้านตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างป่าไม้และเห็ดป่า ที่เป็นแหล่งอาหารคุณภาพและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน จึงเป็นสิ่งสำคัญ อนึ่ง ไม้วงศ์ยางมีประโยชน์ทางด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ ระบบนิเวศ ตลอดจนความเชื่อมโยงผูกพันกับวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นการช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นแหล่งอาศัยสัตว์ป่า ช่วยป้องกันการกัดเซาะดิน เนื้อไม้มีความทนทาน สวยงาม เหมาะสำหรับงานก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เรือ ด้ามเครื่องมือ และงานแกะสลัก เป็นแหล่งน้ำมันยาง แหล่งผลิตเรซิ่น แหล่งสมุนไพร และเป็นแหล่งอาหาร เป็นศูนย์รวมของเห็ดป่าหลากหลายชนิด เช่น เห็ดระโงก เห็ดเผาะ เห็ดแดง เห็ดตะไคล เห็ดถ่าน เป็นต้น ซึ่งเห็ดระโงกและเห็ดเผาะจัดว่าเป็นเห็ดเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้เห็ด 2 ชนิดนี้มีราคาสูง และไม่เพียงพอต่อผู้บริโภค ทางโครงการฯ จึงได้มีการสนับสนุนกล้าไม้วงศ์ยางให้เกษตรกรไปปลูกทั้งในพื้นที่สาธารณะประโยชน์และพื้นที่ของตนเอง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรู้สึกรักและหวงแหนพื้นที่ป่า สร้างแหล่งอาหารให้ชุมชน มีความมั่นคงทางอาหาร ลดความเสี่ยงในการบริโภคเห็ดพิษ และยังสามารถสร้างเป็นอาชีพ เสริมรายได้อีกด้วย
ด้าน นายไสว คณาเสน นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ศรีสะเกษ กล่าวเสริมว่า การอบรมเชิงวิชาการครั้งนี้เป็นการให้ความรู้กับเกษตรกรในเรื่องการเพาะปลูกเห็ดป่า เห็ดเผาะ และเห็ดระโงก โดยสอนเกษตรกรว่า เห็ดป่าไหนทานได้ อันไหนทานไม่ได้ และจะมีวิธีการเพาะปลูกอย่างไรเพื่อให้ผลผลิตสูง เพื่อให้ตรงนี้เป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร รวมไปถึงในเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะการเพาะปลูกเห็ดป่ามันจะควบคู่ไปกับไม้วงศ์ยาง ซึ่งจะช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงช่วยลดมลพิษต่าง ๆ ควบคู่กันไป ซึ่งเราจะมองในภาพรวมคือ ช่วยสร้างรายได้ รักษาสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์เห็ดป่าในประเทศไทยไปพร้อมเพรียงกัน
ขณะที่ เชฟธอมัส ดร.วรพล อิทธิคเณศร ผู้อยู่เบื้องหลังเพจตำรับข้างวังที่มีผู้ติดตามเกือบ 5 แสนคน ที่ร่วมรังสรรค์เมนูต่อยอดวัตถุดิบเห็ดป่ากินได้ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการส่งเสริมใช้วัตถุดิบพื้นบ้านที่สามารถเพาะปลูกได้ในไทย ในเชิงเศรษฐกิจถือว่าได้ช่วยชาวบ้าน เมนูที่รังสรรค์ครั้งนี้คือ ต้มยำ ซึ่งเราคุ้นเคยกันดีว่า ต้มยำต้องใส่เห็ดลงไป ธรรมดาเราใส่เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง แต่วันนี้เราใส่เห็ดระโงก กลิ่นสัมผัสที่ได้จะคล้าย ๆ เห็ดโคนผสมกับเห็ดฟาง ได้ความหนึบความหอม ส่วนอีกเมนูหนึ่งคือ ซุปเห็ดภูเขาไฟ ด้วยการใช้เห็ดเผาะแทนเห็ดทรัฟเฟิลในการทำซุป ด้วยรสชาติและรสสัมผัสมีความใกล้เคียง แต่อาจมีเรื่องกลิ่นเล็กน้อยที่ต้องมีการปรับ ซึ่งเมนูนี้สามารถเผยแพร่และส่งออกในระดับนานาชาติได้ โดยที่เลือกซุปเพราะซุปเป็นพื้นฐานของการทานอาหารในหลาย ๆ ชาติ ซุปเห็ดเผาะเป็นอาหารเรียกน้ำย่อยได้ กลิ่นธรรมชาติจะช่วยบำบัดทำให้เกิดความสุขในการรับประทานอาหาร ถ้าเรามีการพัฒนาและปรับปรุงต่อยอด เชื่อว่าชาวต่างชาติจะนำเห็ดเผาะนี้ไปใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหารกันมากขึ้น เพราะวัตถุประสงค์ของการทำอาหารจริง ๆ คือ ทำให้คนมีความสุข ทำให้คนอร่อย จนเป็นรสชาติที่ประทับใจ จะทำให้เกิดการส่งออกที่มากขึ้นกับเห็ดที่ปลูกในประเทศไทย
ทั้งนี้ กิจกรรมภายใต้การอบรมฯ ประกอบด้วย การบรรยายเรื่องความสัมพันธ์ของไม้วงศ์ยางและปัจจัยที่ทำให้เกิดเห็ดระโงกและเห็ดเผาะ และการสร้างรายได้เสริมอาชีพจากป่า การบรรยายเรื่องเล่าจากอาหารและสาธิตการทำเมนูเห็ดระโงกและเห็ดเผาะ การฝึกปฏิบัติงานการเพาะเห็ดระโงกและเห็ดระโงกในไม้วงศ์ยาง การศึกษาดูงานแปลงเกษตรต้นแบบ การร่วมกันปลูกกล้าไม้วงศ์ยางที่ใส่หัวเชื้อเห็ดระโงกและเห็ดเผาะ ตลอดจนการร่วมกันสำรวจเห็ดป่าในป่าชุมชนและตลาดเห็ดป่าในพื้นที่ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ