Last updated: 11 มิ.ย. 2567 | 537 จำนวนผู้เข้าชม |
นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางการลงทุนในเดือนมิถุนายนนี้ จะอยู่ที่การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ และเป็นวันเดียวที่จะประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐฯ แม้คาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินน่าจะมีมติคงดอกเบี้ยต่อในรอบนี้ แต่หากประกาศตัวเลขเงินเฟ้อปรับลดลง และความเห็นของธนาคารกลางสหรัฐฯ เปลี่ยนมุมมองมาในทางที่จะลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นอาจทำให้ตลาดตอบรับในเชิงบวกทันที
“ขณะนี้ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางชาติอื่น ๆ เริ่มที่จะปรับทิศทางมาลดดอกเบี้ยกันแล้ว น่าจะเป็นแรงกดดันไปยังธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ต้องปรับลดดอกเบี้ยตาม โดย FED Fund Rate ตอนนี้ให้น้ำหนักการลดดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ ในเดือนกันยายนที่ 50% แต่ถ้ามีปัจจัยอื่นมาสนับสนุนก็มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง ล่าสุด ดัชนี Dollar Index ก็ส่งสัญญาณเป็นขาลงครั้งแรกของปีนี้เช่นกัน”
สำหรับสินทรัพย์ที่น่าสนใจในเดือนนี้ มองว่าหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ยังมีโอกาสในการลงทุน แต่ต้องกระจายพอร์ตไปยังหุ้นกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หรือ Big7 เพราะราคาปรับตัวขึ้นค่อนข้างสูงมากแล้ว และราคาค่อนข้างมีอัพไซด์จำกัด ประกอบกับมีความเสี่ยงเชิงพื้นฐานที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะ Nvidia ที่มีข่าวของการลดพาร์เข้ามาทำให้มีการเก็งกำไรอย่างต่อเนื่อง
“ตอนนี้ Nvidia กำลังเผชิญกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน อย่าง AMD และ Intel ที่ประกาศจะผลิต GPU สำหรับใช้งานด้านเอไอขึ้นมาแข่งขันด้วย ซึ่งจากความต้องการในตลาดที่สูง ประกอบกับราคาจำหน่ายที่อาจจะถูกกว่า Nvidia มีโอกาสสูงที่จะถูกแย่งตลาดบางส่วน บวกกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่มีแพลตฟอร์มเอไอ เช่น Microsoft, Alphabet, Meta และ Amazon เริ่มหันมาผลิตชิปเซ็ตของตัวเอง ทั้งหมดนี้เป็นความเสี่ยงต่อหุ้น Nvidia ที่อาจมีนักลงทุนเทขาย”
อย่างไรก็ดี นักลงทุนสามารถที่จะกระจายพอร์ตไปลงทุนในหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ตัวอื่นที่ราคายังปรับตัวขึ้นมาไม่สูงมาก โดยคาดว่ากระแสของเอไอจะเป็นผลดีต่อหุ้นในกลุ่มนี้ทั้งหมดในระยะยาว รวมถึงมองหาหุ้นที่ได้ประโยชน์ทางอ้อมจากเอไอ ได้แก่ Cloud Computing และซอฟท์แวร์ จะเป็นทางเลือกในการลงทุนได้
นอกจากนี้ยังมีสินทรัพย์อื่นที่น่าสนใจ ได้แก่ บิทคอยน์ ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเปลี่ยนนโยบายเข้าสู่การลดดอกเบี้ย รวมถึงการอนุมัติ Ethereum ETF และการออกมาประกาศเชิงนโยบายจากผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะสนับสนุนคริปโต ถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดนี้ เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ มีท่าทีต่อต้านคริปโตมาโดยตลอด แต่ถ้านโบายเปลี่ยนไปในเชิงบวกจะทำให้ตลาดคริปโตและบิทคอยน์ มีความน่าสนใจมากขึ้น
ขณะที่แนวโน้มทางเทคนิค ราคาบิทคอยน์เคลื่อนไหวแบบไซด์เวย์มาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ราคาขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ แม้ว่าจะยังไม่สามารถกลับไปที่แนวต้านเดิมที่ 74,000 ดอลลาร์ แต่การที่ราคาไม่ได้ทำจุดต่ำสุดใหม่ทำให้ยังมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นได้ต่อ โดยมีเป้าหมายระยะสั้นที่ 84,000 ดอลลาร์ สามารถทยอยสะสมเพิ่มได้
ส่วนทองคำเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย อย่างไรก็ตามราคาได้ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมาก และถึงแนวต้านเป้าหมายที่ 2,470 ดอลลาร์แล้ว ระยะสั้นอาจมีแรงเทขายทำกำไรออกมา แต่ภาพระยะยาวทองคำยังสามารถที่จะปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยมีปัจัยหนุนจากความต้องการทองคำทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ จีน และอินเดีย ที่ต้องการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้หากราคาทองคำปรับตัวลงมาไม่ต่ำกว่า 2,000 ดอลลาร์ ยังสามารถเข้าสะสมได้
นายณพวีร์ กล่าวปิดท้ายว่า ในเดือนนี้ ยังมองเป็นโอกาสที่จะทยอยเข้าลงทุนในตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง โดยมีความน่าสนใจในแง่ของแวลูเอชั่นที่ยังถูกกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต รวมถึงกราฟเทคนิคที่เพิ่งจะปรับตัวเป็นขาขึ้น รวมถึงตลาดหุ้นเวียดนาม มีความน่าสนใจเช่นกันจากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีและกราฟเทคนิคยังยืนยันการเป็นขาขึ้นในภาพใหญ่