Last updated: 16 พ.ค. 2567 | 740 จำนวนผู้เข้าชม |
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ มูลนิธิ SOS และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดตัว “โครงการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank): การบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน คำตอบในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เพื่อสร้างต้นแบบระบบการบริหารจัดการอาหาร ส่งต่ออาหารส่วนเกินไปยังกลุ่มเปราะบางของสังคมไทย มุ่งลดปริมาณขยะอาหารด้วยการจัดการอาหารส่วนเกิน ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดอาหารส่วนเกิน และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหาร พร้อมกันนี้ สวทช. ยังสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ แพลตฟอร์มดิจิทัลแนะนำการจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติ และแนวปฏิบัติอาหารปลอดภัยสำหรับอาหารบริจาค (Food Safety Guideline) สนับสนุนนโยบาย BCG ด้านอาหารของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีโภชนาการที่ดี เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชน และส่งเสริมเป้าหมายด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ลดการสูญเสียอาหาร และลดการเกิดขยะอาหาร
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตขยะอาหารที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหารของประชาชนกลุ่มเปราะบาง นอกเหนือจากการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาขยะอาหารแล้ว การลดการสูญเสียอาหารตั้งแต่ต้นทางก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการลดวิกฤตปัญหาขยะอาหาร จากข้อมูลที่ได้มีการศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีอาหารส่วนเกินมากถึงเกือบ 4 ล้านตันต่อปี ในขณะที่มีการรายงานตัวเลขของประชากรของประเทศที่มีรายได้น้อยและมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารอยู่ถึง 3.8 ล้านคน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG สาขาอาหาร ร่วมกับ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ดำเนินการศึกษาและวิจัยเชิงนโยบายเพื่อสร้างต้นแบบการดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน (Food surplus) ของประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. โดยการเปิดตัวธนาคารอาหารของประเทศไทยครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารส่วนเกิน การกอบกู้อาหาร และการส่งต่ออาหารส่วนเกินอันจะช่วยส่งเสริมให้ลดการเกิดขยะอาหาร และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศไปด้วยกัน และหวังเป็นต้นแบบของการสร้างแบบจำลองการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้สังคมไทย
นอกจากนี้ สวทช. ยังได้สนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ แพลตฟอร์มดิจิทัลแนะนำการจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มีมูลนิธิ SOS และองค์กรพันธมิตรเครือข่ายเป็นผู้ใช้งาน ช่วยเพิ่มความสะดวกให้ผู้รับบริจาคเพื่อรองรับการขยายฐานผู้บริจาคอาหาร เพิ่มความสามารถในการจัดการอาหารส่วนเกิน ช่วยลดภาระงานและสนับสนุนการตัดสินใจของผู้ดูแลระบบและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการอาหารส่วนเกิน รวมถึงสามารถจัดส่งอาหารไปยังผู้ขอรับความช่วยเหลือได้ตรงตามความต้องการและลดความเสียหายของอาหาร และแนวปฏิบัติอาหารปลอดภัยสำหรับอาหารบริจาค (Food Safety Guideline) จะเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการรับอาหาร การเก็บรักษาอาหาร การขนส่ง การแจกจ่ายอาหาร หลักปฏิบัติสำหรับผู้สัมผัสอาหาร เช่น การแช่แข็งอาหารส่วนเกินและติดฉลากใหม่ การระบุวันที่และระยะเวลาที่แนะนำ ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและการควบคุมอันตราย เช่น สารเคมี สารก่อภูมิแพ้ หลักปฏิบัติในการเตรียมอาหาร เช่น การทำละลายอาหารแช่แข็ง การทำให้สุก การทำให้เย็น การอุ่นร้อน การรักษาความปลอดภัยอาหารระหว่างขนส่ง เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย เพื่อให้อาหารที่แจกจ่ายยังคงมีความปลอดภัยและเหมาะสมต่อการบริโภค ช่วยให้เกิดความมั่นใจทั้งต่อผู้ให้บริจาคและผู้รับบริจาครวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการบริจาคอาหารในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
นางสาวกุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) กล่าวว่า สวก. ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาขยะอาหารและความมั่นคงทางอาหาร จึงให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ สวทช. ดำเนินงานโครงการเพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินของประเทศ เพื่อเป็นการศึกษาต้นแบบและแนวทางการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินที่เหมาะสมของประเทศ และจัดทำแนวปฏิบัติอาหารปลอดภัยสำหรับอาหารบริจาค (Food safety guideline) โดยดำเนินการร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมอนามัย เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับการบริจาคอาหารทั่วประเทศ
งานเปิดตัวธนาคารอาหารของประเทศไทยในวันนี้ เป็นโครงการต้นแบบที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังของเทคโนโลยีในการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้บริจาคและผู้รับบริจาคผ่านระบบการบริหารจัดการที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ผลักดันให้เกิดการบริจาคอาหารส่วนเกินให้ขยายวงกว้างขึ้น นับเป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมไร้ขยะอาหารและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
ด้าน คุณทวี อิ่มพูลทรัพย์ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) ประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิ SOS ดำเนินงานอย่างมุ่งมั่นที่จะลดปัญหาขยะอาหารและส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการกอบกู้อาหารส่วนเกินจากผู้ผลิตอาหารในเครือข่ายของหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร้านสะดวกซื้อ โรงแรม และร้านอาหาร ซึ่งเป็นผู้บริจาคอาหาร และนำอาหารเหล่านี้ส่งต่อให้กับเครือข่ายผู้รับบริจาคอาหาร ทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ซึ่งกระบวนการกู้ภัยอาหารและการส่งต่ออาหาร ได้มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้แทนเอกชนผู้ผลิตอาหารในการร่วมกันดำเนินงานกู้ภัยอาหารจากบริจาคอาหาร ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการรับบริจาคอาหารที่ร่วมกับผู้นำชุมชน ปัจจุบันมูลนิธิได้ส่งต่ออาหารส่วนเกินไปแล้วกว่า 8.3 ล้านกิโลกรัมหรือคิดเป็น 35 ล้านมื้อ ให้แก่ชุมชนต่าง ๆ มากกว่า 3,600 แห่ง ซึ่งเท่ากับว่าเราได้ลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการนำอาหารไปฝังกลบถึง 21,166 ตัน นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานที่ผ่านมาอย่างเป็นรูปธรรมแล้วกับโครงการ BKK Food Bank ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งได้มีการนำแพลตฟอร์มแนะนำการจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติของ สวทช. มาใช้งานร่วมกับแพลตฟอร์ม Cloud Food Bank (CFB) แพลตฟอร์มองค์กรพันธมิตรต่าง ๆ
ทั้งนี้ โครงการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย เป็นโอกาสอันดีที่จะประชาสัมพันธ์การดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการอาหารส่วนเกิน ให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารส่วนเกินและเชิญชวนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมสร้างสังคมไร้ขยะอาหาร โดยนำร่องที่ชุมชนย่านลาดพร้าว เพื่อให้เห็นต้นแบบระบบการบริหารจัดการอาหาร เพื่อส่งต่ออาหารส่วนเกินไปยังกลุ่มเปราะบางของสังคมไทย ภายในงาน ยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินในลักษณะธนาคารอาหาร ทั้งในมุมประสบการณ์กอบกู้อาหารส่วนเกินและการส่งต่ออาหาร โดยมูลนิธิ SOS มุมประสบการณ์บริจาคอาหารและแรงบันดาลใจในการเป็นผู้บริจาคอาหารส่วนเกิน โดยผู้แทนผู้บริจาคอาหาร ได้แก่ คุณวลัยรัตน์ อภินัยนาถ GM of Corporate Planning บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด (Maxvalu Supermarket) เชฟอรรถพล ถังทอง (Chef X) Executive Chef จากโรงแรม Bangkok Marriott Hotel The Surawongse คุณแจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล Senior Marketing Manager มูลนิธิเคเอฟซี และคุณทวิช ทัฬหะกาญจนากุล ผู้อำนวยการโลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้า บริษัท ซีพีเอฟ โกลบอล ฟู้ด โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CPFGS ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของซีพีเอฟ รวมถึงการแชร์ประสบการณ์ในกระบวนการรับบริจาคอาหาร โดยตัวแทนผู้นำชุมชน นำโดยคุณวิกานดา สังวรราชทรัพย์ ประธานเครือข่ายผู้นำชุมชนเขตลาดพร้าว และคุณวิไล แซ่โอ๊ว ศูนย์ประสานงานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และแนวทางดำเนินงาน BKK Food Bank ของ กทม. โดยคุณณัฎฐ์วิฉัตรา หวิงปัด สำนักงานการพัฒนาชุมชน สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร