สวทช. โชว์ผลงานปี 67 ตอบโจทย์ประเทศ 4 มิติ พร้อมเผยกลยุทธ์ปี 68 เน้นใช้ประโยชน์ได้จริง สร้างความยั่งยืน

Last updated: 27 ธ.ค. 2567  |  95 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สวทช. โชว์ผลงานปี 67 ตอบโจทย์ประเทศ 4 มิติ   พร้อมเผยกลยุทธ์ปี 68 เน้นใช้ประโยชน์ได้จริง สร้างความยั่งยืน

ทุกวันนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสะดวกสบายด้านต่าง ๆ  หรือช่วยส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกด้านของสังคม เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนและการประยุกต์ใช้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านผลงานวิจัยที่ช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อยกระดับระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งจะพัฒนาผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง  

สรุปผลงานของ สวทช. ในปี 2567  ดำเนินโครงการ BCG Implementation เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตอบโจทย์ 4 มิติหลัก:


โครงการ BCG Implementation ของ สวทช. ในปี 2567 เป็นความพยายามที่จะนำเอา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ในการพัฒนาประเทศให้มีความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นไปที่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) หรือที่เรียกย่อๆ ว่า เศรษฐกิจ BCG   ผลสำเร็จของโครงการ มีประชาชนกว่า 8.9 ล้านคนได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้น  หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม นำเทคโนโลยีไปใช้มากกว่า 43,000 หน่วยงาน  สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า 20,000 ล้านบาท และส่งผลดีด้วยการ  กระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพิ่มขึ้นกว่า 3,600 ล้านบาท


ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “ สำหรับทิศทางในการดำเนินงานที่ผ่านมาเราเน้นในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์จริง  ปีที่ผ่านมาเราตั้งเป้าจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ 5 ล้านคนก็สามารถทำได้ 9 ล้านคน ในขณะเดียวกันภาครัฐและภาคเอกชนทีได้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเรามีหลายหมื่นหน่วยงาน  ซึ่งในปีต่อไปเราก็ตั้งเป้าที่จะทำให้ได้ มากกว่า7 ล้านคน ขณะเดียวกันจำนวนหน่วยงานที่คาดหวังว่าจะได้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากความร่วมมือกับเรามากว่า 2 หมื่นหน่วยงาน  จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันเราเยอะมาก   เมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องที่ สวทช. ที่ถือครองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ค่อนข้างครบครันต้องนำสิ่งเหล่านี้มาให้ถึงประชาชน ขระเดียวกันก็ต้องวิ่งไล่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลกที่ผุดขึ้นมาใหม่ทุกวัน   ดังนั้น เป้าหมายของปีที่ผ่านมารวมถึงในอนาคตทำอย่างไรเราจะไม่ได้อยู่ในห้องปฏิบัติการแต่เราจะนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าถึงการใช้งานจริง ศึกษาบริบททุกภาคส่วนว่ามีเรื่องอะไรที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถหยิบมาใช้และเกิดประโยชน์สูงสุดเรียกว่า เก็บผลไม้ที่ต่ำกว่า (Low Hanging Fruit )เรื่องอะไรที่ประเทศเรายังไม่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เราควรที่จะรีบเอามาใช้   ขณะเดียวกันเรื่องอะไรที่เรากำลังได้รับผลกระทบจากความก้าวหน้าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของโลก  ทำให้เราเสียดุลการค้า โดนเอาเปรียบ เราจะต้องนำเรื่องเหล่านั้นยกมาเพื่อทำให้ผู้ประกอบการและภาครัฐลดการนำเข้าและใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ให้เร็วที่สุดและเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากที่สุด “ 

ตอบโจทย์ประเทศทั้ง 4 มิติ

มิติที่ 1 . สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ


 1. FoodSERP แพลตฟอร์มการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน บริการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ตลอดห่วงโซ่การผลิตพร้อมผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ ยกระดับอุตสาหกรรมส่วนผสมฟังก์ชัน อาหารและเวชสำอางสู่มาตรฐานสากล

2. นวัตกรรมการผลิตสารสกัดเพิ่มมูลค่า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและความงามอย่างยั่งยืน พลิกโฉมสมุนไพรไทยสู่สารสกัดมูลค่าสูง พัฒนาผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและความงามที่ปลอดภัยได้มาตรฐานสากล

3.  EV การพัฒนา ห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้าเพื่อการแข่งขันที่ยั่งยืน มีการพัฒนา Upskill/Reskill กำลังคนด้าน EV สร้างเทคโนโลยีสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย “อว. For EV สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า 860 ล้านบาท เกิดการลงทุนด้าน วทน. มากกว่า 640 ล้านบาท

มิติที่ 2 เพิ่มการพึ่งพาตนเอง ผ่าน 4 โครงการหลัก


1.ชุดตรวจโรคไตและเบาหวาน ชุดตรวจคัดกรองติดตามโรคไตเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน ตรวจง่าย รู้ผลไว เพิ่มโอกาสคนไทยรอดพ้นจากโรคไตเรื้อรัง ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับ อย. และกำลังเข้าสู่ระบบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

2.Digital Healthcare Platform แพลตฟอร์มบริการการแพทย์ดิจิตอลปลดล๊อคข้อจำกัดของระบบบริการสุขภาพ ลดความแออัดในโรงพยาบาล สร้างโอกาสการเข้าถึงการบริการสาธารณสุข สนับสนุนหน่วยบริการนวัตกรรมตามนโยบาย สปสช. และบริการการแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงสนับสนุนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ของรัฐบาล

3. วัคซีนสัตว์ พัฒนาวัคซีน ASF สายพันธุ์ไทย สวทช. โดยไบโอเทค เร่งพัฒนาวัคซีน ASFV ต้นแบบชนิดเชื้อ เพื่อสู้กับโรคระบาดในสุกร และลดการนำเข้าวัคซีน

4.National AI Ecosystem พัฒนาระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม มีการสนับสนุนแพลตฟอร์ม “AI for Thai” ผ่านการให้บริการ LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ สำหรับการวิจัยด้าน AI และสนับสนุนพัฒนา Thai LLM เป็น OpenThaiGPT ที่พัฒนาโดยคนไทย

มิติที่ 3 ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ได้แก่

1.Traffy Fondue แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง ที่ช่วยในการบริหารจัดการเมือง ปฏิรูปการร้องเรียน เชื่อมต่อทุกปัญหา ยกระดับสังคมเมืองให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ขยายผลการใช้งานแล้วมากกว่า 15,000 หน่วยงาน

2. ทุ่งกุลาม่วนซื่น ส่งเสริมเกษตรกร/ผู้มีรายได้น้อย ใช้เทคโนโลยียกระดับสินค้าเกษตรและอาหารมูลค่าสูงผ่านกลไกตลาดนำการผลิต  พลิกผืนดินทุ่งกุลาร้องไห้ ให้เป็น “ทุ่งกุลาม่วนซื่น อยู่ดี มีแฮง”  

3.แพลตฟอร์มสนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ เป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม  มีหน่วยงานนำไปใช้ประโยชน์มากกว่า 130 หน่วยงาน ผู้ได้รับประโยชน์มากกว่า 142,000 คน

มิติที่ 4 สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วย 2 โครงการหลัก 


1.การพัฒนาตัวชี้วัดและฐานข้อมูล CO2 , CE, SDGs เพื่อการค้าและความยั่งยืน โดย เอ็มเทค สวทช. สร้างฐานข้อมูลพัฒนาตัวชี้วัดสำคัญเพื่อสนับสนุนแนวทาง SDGs ภาครัฐและภาคเอกชน นำพาประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ลดการกีดกันทางการค้า และช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมไทยสู่ตลาดโลกด้วยฐานข้อมูลเพื่อตอบมาตรการ CBAM สำหรับอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม เหล็ก และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในอนาคต

2. Industry 4.0 Platform การยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรมสีเขียวแพลตฟอร์มรวบรวมบริการและกิจกรรมช่วยผู้ประกอบการไทย ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธภาพกระบวนการผลิตลดต้นทุนการผลิตและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน  ผ่านการใช้งานระบบ Thailand i4.0 CheckUp มีเป้าหมายให้ได้ 5,000 รายภายในปี 2571 โดยมีศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ที่จะช่วย Upskill/Reskill นอกจากนี้การดำเนินงานโครงการ IDA (Industrial IoT and Data Analytics) Platform เพื่อยกระดับโรงงานอุตสาหกรรม

ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดปี 2567 สวทช. นอกจากการดำเนินโครงการ BCG Implementation แล้ว สวทช. เดินหน้าดำเนินการในด้านอื่น ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจของการเป็นหน่วยงานวิจัยแห่งชาติ อาทิเช่น  ด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรม สวทช. ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่ SMEs 550 ราย ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย 76 ราย และยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการใช้ประโยชน์ 501 ราย    ด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่ชุมชน สวทช. ส่งเสริมเทคโนโลยีสร้างอาชีพให้เกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ มากกว่า 10,000 คน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมประมาณ 500 ล้านบาท    และด้านการพัฒนากำลังคนและสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช. ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนมากกว่า 17,000 คน สนับสนุนทุนให้แก่บัณฑิตและนักวิจัยอาชีพมากกว่า 500 คน

"ก้าวสู่ความสำเร็จ! สวทช. เปิดกลยุทธ์ปี 68 พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประเทศไทยยั่งยืน"
สำหรับปี 2568 สวทช. จะมุ่งมั่นขยายผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนตามแผน S&T Implementation for Sustainable Thailand โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการถึง 7 ล้านคนและขยายการใช้เทคโนโลยีให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน.ตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี สวทช. (พ.ศ. 2566-2570)โดยเน้น 4 กลยุทธ์ ในการดำเนินงาน ได้แก่

1. ขับเคลื่อนแผนงาน S&T Implementation for Sustainable Thailand ร่วมกับพันธมิตรสำคัญในการขยายผลสู่การใช้ประโยชน์

2. สร้างความเข้มแข็ง ความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีฐานด้านที่สำคัญของประเทศ เพื่อตอบ S&T Ecosystem ของประทศ

3. สร้างการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานของ สวทช. และการพัฒนาบุคลากรด้าน วทน.

4. เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากร

จากเป้าหมายทั้งหมดนี้ ถือเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศและที่สำคัญเป็นความสำเร็จของ สวทช.  รวมทั้งหน่วยงานพันธมิตรที่ได้ร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นขุมพลังในการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทยอย่างทั่วถึง และสร้างความเข้มแข็งให้กับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาประเทศไทยให้เติบโตที่ยั่งยืน

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้