Last updated: 22 เม.ย 2568 | 75 จำนวนผู้เข้าชม |
การใช้ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในระบบสาธารณสุขของไทยกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีบทบาทในหลายด้านเพื่อยกระดับคุณภาพการรักษาและบริการทางการแพทย์ เช่น วิเคราะห์ภาพเอกซเรย์, CT Scan, MRI เพื่อตรวจหาความผิดปกติ วิเคราะห์ข้อมูลคนไข้ ประวัติการรักษา และงานวิจัยทางการแพทย์ เป็นต้น
ถือเป็นผลงานความสำเร็จที่ร่วมกันขับเคลื่อนการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทางการแพทย์ และยังสอดคล้องกับนโยบาย อว. for AI โดยความร่วมมือระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย สวทช., ม.มหิดล, กรมการแพทย์ และพันธมิตร เปิดตัว “Medical AI Data Platform” “แพลตฟอร์มกลางข้อมูลทางการแพทย์” ที่เชื่อมโยง รวบรวม และเปิดให้ใช้ภาพถ่ายทางการแพทย์กว่า 2.2 ล้านภาพ ครอบคลุม 8 กลุ่มโรคสำคัญ เช่น มะเร็งเต้านม, โรคตา, โรคหลอดเลือดสมอง และโรคทรวงอก
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า “กระทรวง อว. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ผ่านนโยบาย ‘อว. for AI’ ซึ่งมุ่งสร้างระบบนิเวศ AI ที่ครบวงจร การแพทย์เป็นเป้าหมายสำคัญที่ AI จะช่วยเพิ่มความแม่นยำ รวดเร็ว และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพ การสนับสนุนการจัดตั้ง Medical AI Consortium ผ่านทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เพื่อพัฒนา Medical AI Data Platform ถือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของประเทศ แพลตฟอร์มนี้ไม่ได้เป็นเพียงคลังข้อมูล แต่ยังประกอบด้วยเครื่องมือที่พัฒนาโดย สวทช. ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยและแพทย์สามารถพัฒนานวัตกรรม AI ได้ง่ายขึ้น ถือเป็นภารกิจสำคัญในการสร้างรากฐาน AI การแพทย์ที่มั่นคงของประเทศ จึงขอเชิญชวนโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ร่วมแบ่งปันข้อมูลและระบุโจทย์ที่สำคัญ และนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาร่วมพัฒนาโมเดล AI ที่ใช้ได้จริง เพื่อร่วมกันยกระดับสาธารณสุขไทยให้ก้าวทันโลก และใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างเต็มศักยภาพ”
ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สวทช. กล่าวว่า แพลตฟอร์มนี้ไม่ใช่แค่แหล่งข้อมูล แต่คือโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ผลักดันไทยสู่การเป็นผู้นำด้าน Medical AI แพลตฟอร์มนี้พัฒนาโดย เนคเทค สวทช. เพื่อผลักดันนวัตกรรม AI การแพทย์ในไทยให้สามารถ คัดกรองและวินิจฉัยโรคได้เร็ว แม่นยำ และลดภาระบุคลากรแพทย์ ผ่านเครื่องมืออย่าง RadiiView สำหรับการจัดการภาพ และ NomadML สำหรับการสร้างโมเดล AI ช่วยปลดล็อกให้นักวิจัยและแพทย์ไทยสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ได้เอง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และนำไปสู่ AI ทางการแพทย์ที่ตอบโจทย์บริบทของประเทศไทยอย่างแท้จริง”
แพลตฟอร์มประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก:
1. Data Management: จัดเก็บและจัดการข้อมูลภาพทางการแพทย์อย่างปลอดภัย พร้อมซอฟต์แวร์ RadiiView สำหรับกำกับข้อมูล (annotation) โดยแพทย์
2. AI Modeling: พัฒนาโมเดล AI ง่ายโดยไม่ต้องเขียนโค้ด ผ่านแพลตฟอร์ม NomadML ที่เชื่อมต่อกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ LANTA
3. AI Service Deployment: นำโมเดลที่ผ่านการพัฒนาไปใช้จริงในระบบบริการสุขภาพ ผ่านแพลตฟอร์มระดับชาติ
แพลตฟอร์มนี้ดำเนินการภายใต้มาตรฐานคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) โดยกระทรวงสาธารณสุข มุ่งสร้าง Medical AI ที่ตอบโจทย์บริบทไทยอย่างแท้จริง.
โดยแพลตฟอร์มดังกล่าว ได้รวบรวมภาพทางการแพทย์แล้วกว่า 2.2 ล้านภาพ ครอบคลุม 8 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ โรคทรวงอก, มะเร็งเต้านม (ภาพแมมโมแกรม), โรคตา (ภาพจอประสาทตา), โรคในช่องท้อง (ภาพอัลตราซาวด์), โรคผิวหนัง, โรคหลอดเลือดสมอง (ภาพ CT/MRI), และโรคกระดูกพรุน (ภาพ BMD/VFA) พร้อมทั้งพัฒนาโมเดล AI ต้นแบบแล้ว 2 บริการ ซึ่งมีศักยภาพในการช่วยแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย และขยายโอกาสการเข้าถึงบริการสุขภาพ
ปัจจุบัน Medical AI Consortium มีสมาชิกเข้าร่วมขับเคลื่อนรวม 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการแพทย์, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์, คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ม.นวมินทราธิราช
โครงการนี้เปิดกว้างให้โรงพยาบาล-สถาบันการแพทย์ทั่วประเทศร่วม “แชร์–เชื่อม–ใช้” ข้อมูล พร้อมเดินหน้าพัฒนาโมเดล AI ต้นแบบที่สามารถนำไปใช้จริงได้ทันที
ศิริราชพัฒนา AI อ่านเอกซเรย์ทรวงอก ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลร่วมมือกับสตาร์ตอัปไทย พัฒนา AI วิเคราะห์ภาพเอกซเรย์ทรวงอก พร้อมสร้างรายงานทางการแพทย์ ใช้งานในโรงพยาบาลศิริราชและเครือข่าย ลดต้นทุนเทียบกับโปรแกรมต่างประเทศ ล่าสุดผ่านมาตรฐาน อย. แล้ว และเตรียมขยายสู่การวินิจฉัยโรคอื่น ๆ พร้อมกันนี้ “Medical AI Consortium” จะเป็นกลไกสำคัญในการรวมข้อมูลทางการแพทย์ของไทย เสริมศักยภาพการเรียนรู้ของ AI ให้ฉลาดและแม่นยำยิ่งขึ้นในอนาคต
AI เสริมศักยภาพการแพทย์ไทย ตรวจโรคแม่นยำ–เข้าถึงเร็วขึ้น
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า AI กำลังมีบทบาทสำคัญในระบบสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะการคัดกรองโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ซึ่งมีผู้ป่วยเสี่ยงกว่า 1 ล้านคน แต่จักษุแพทย์มีเพียง 250 คน จากการทดลองใน 13 เขตสุขภาพ พบว่า AI ให้ผลตรวจความไวสูงถึง 97% และความแม่นยำ 96% ซึ่งใกล้เคียงบุคลากรทางการแพทย์ แต่ทำงานได้รวดเร็วกว่า ช่วยลดเวลารอคอย เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษา และลดความเสี่ยงการสูญเสียการมองเห็นในผู้ป่วยเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้การพัฒนา AI สำหรับการแพทย์จำเป็นต้องใช้ข้อมูลภาพทางการแพทย์คุณภาพสูงปริมาณมาก ซึ่งที่ผ่านมามีความท้าทายในการรวบรวมและบริหารจัดการข้อมูลที่กระจัดกระจายให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน Medical AI Consortium จึงก่อตั้งขึ้นและขับเคลื่อนให้เกิด แนวคิด “ร่วมแชร์ เชื่อม ใช้” เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือในการแบ่งปันและใช้ประโยชน์ข้อมูลทางการแพทย์อย่างมีธรรมาภิบาล โดยมีแพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ (Medical AI Data Platform) ที่พัฒนาขึ้นโดย เนคเทค สวทช. เป็นแพลตฟอร์มกลางดิจิทัล ทำหน้าที่รวบรวม จัดเก็บ บริหารจัดการ และให้บริการข้อมูลแก่สมาชิกในเครือข่ายและคนทั่วไป ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลและมาตรฐานคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC)