"ม.มหิดล" เพิ่มมูลค่า "มะพร้าวไทย" สู่ผลิตภัณฑ์อาหารเจลโปรตีนสูง สำหรับนักกีฬา

Last updated: 1 ก.ค. 2566  |  196 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"ม.มหิดล" เพิ่มมูลค่า "มะพร้าวไทย" สู่ผลิตภัณฑ์อาหารเจลโปรตีนสูง สำหรับนักกีฬา

"มะพร้าว" ถูกจัดเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณมากมาย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน และแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าต่างๆ อาทิ น้ำกะทิปรุงสำเร็จ น้ำมะพร้าวสกัดเย็น น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม ฯลฯ ในฐานะพืชเศรษฐกิจที่สร้างอาชีพและรายที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ซึ่งในส่วนของนักกีฬา หรือผู้ออกกำลังกายที่กำลังอ่อนแรง หากได้รับประทานอาหารเสริมโปรตีนที่มีส่วนประกอบมาจากน้ำมะพร้าวบริสุทธิ์จะเท่ากับได้ "เติมพลังชีวิต" ให้กลับฟื้นคืนอีกครั้ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญ์นลิน วิญญูประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงผลงานนวัตกรรมล่าสุดของสถาบันฯ ที่ได้พัฒนาอาหารเจลเสริมโปรตีนสำหรับนักกีฬา หรือผู้ออกกำลังกายที่มีปริมาณโปรตีนสูง ซึ่งโปรตีนมีส่วนช่วยเสริมสร้างและคงสภาพของมวลกล้ามเนื้อจากน้ำมะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว ซึ่งเป็นแหล่งผลิตมะพร้าวน้ำหอมสายพันธุ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่ามีรสชาติดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย

มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI - Geographical Indication) ของจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีความโดดเด่นในเรื่องความหอมหวาน ซึ่งนับเป็นความโชคดีของไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์ในทรัพยากรดังกล่าว จนสามารถนำไปพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มากด้วยคุณค่า และมูลค่า ดำเนินการจดทรัพย์สินทางปัญญาโดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ ภายใต้สิทธิการดำเนินการทางการตลาด (licensing) ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล มอบให้กับภาคเอกชน

ในเฟสแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับนักกีฬา หรือผู้ออกกำลังกาย จากน้ำมะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ประเภท "เสริมคาร์โบไฮเดรต" เพื่อเพิ่มพลังงานที่เหมาะสำหรับดื่ม "ก่อน" การออกกำลังกาย ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เฟสถัดมาอยู่ภายใต้ทุนสนับสนุนจากโครงการ Mahidol Incubation Program 2023 ที่ดูแลโดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล และอยู่ระหว่างการพัฒนาขยายผลสู่ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับนักกีฬา หรือผู้ออกกำลังกาย จากน้ำมะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ประเภท "เสริมโปรตีน" ที่เหมาะสำหรับดื่ม "หลัง" การออกกำลังกาย ซึ่งมีโปรตีนสูง และยังประกอบด้วยกรดอะมิโนชนิดโซ่กิ่งที่ช่วยในการเสริมสร้างและคงสภาพกล้ามเนื้อ

ภายในบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการออกแบบให้ง่ายต่อการพกพาเพื่อนำมาบริโภคได้ทันที โดยไม่ต้องแช่เย็น หรืออุ่นร้อน ตลอดจนสามารถเก็บรักษาภายในอุณหภูมิห้องปกติได้อย่างน้อยถึง 1 ปีโดยไม่สูญเสียรสชาติ ภายใต้กรรมวิธี Sterilization ที่ผ่านความร้อนสูง จึงทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สะอาด และปลอดภัย

จุดท้าทายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับนักกีฬา หรือผู้ออกกำลังกาย จากน้ำมะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร อยู่ที่จะทำอย่างไรให้โปรตีนในผลิตภัณฑ์ฯ ยังคงสภาพดี และไม่ตกตะกอนเมื่อต้องอยู่ในสภาวะการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิสูงจัดเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังเชื่อมั่นได้ว่าจะไม่มี "กลิ่นหืน" ที่มักเกิดจาก "กะทิ" ซึ่งมีกรดไขมัน ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ได้มากกว่า "น้ำมะพร้าว" โดยผลิตภัณฑ์ ทำมาจาก "น้ำมะพร้าว" ไม่มีส่วนผสมของ "กะทิ" และจากสูตรการผลิตโดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่คิดค้นขึ้นเป็นพิเศษจากการคัดเลือกมะพร้าวพันธุ์ดีที่ทำให้มั่นใจได้ถึงรสชาติที่กลมกล่อม ไม่เป็น "น้ำมะพร้าวเปรี้ยว" นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วย "โปแตสเซียม" ที่จะช่วยลดการเกิด "ตะคริว" ให้กับนักกีฬา หรือผู้ออกกำลังกายด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญ์นลิน วิญญูประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า โดยปกติร่างกายมนุษย์ต้องการโปรตีน 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เนื่องจากคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ฯ ประกอบไปด้วยโปรตีนสูงถึงประมาณ 30 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค จึงทำให้ขอบเขตของการบริโภคไม่จำกัดเฉพาะนักกีฬา หรือผู้ออกกำลังกาย แต่ยังเหมาะสำหรับผู้ซึ่งอยู่ในภาวะที่ต้องการเสริมโปรตีน เช่น ผู้สูงวัย - ผู้ป่วยในระยะพักฟื้น ตลอดจนผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน หรือนักเรียนนักศึกษาที่อาจได้รับโปรตีนในปริมาณที่ไม่เพียงพอในแต่ละวัน

จากการประเมินสถานการณ์ในตลาดโลก คาดว่าในอีก 7 ปีข้างหน้า มูลค่าตลาดของอาหารในกลุ่มเสริมสร้างโภชนาการสำหรับนักกีฬาจะสามารถสร้างมูลค่าได้สูงถึงปีละ 9 หมื่นล้านบาท

หลังจากผ่านขั้นตอนการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับนักกีฬา หรือผู้ออกกำลังกาย จากน้ำมะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ประเภท "เสริมคาร์โบไฮเดรต" และได้วางตลาดภายในประเทศแล้ว ตามแผนการพัฒนาก้าวต่อไปพร้อมเดินหน้าส่งออก "สหรัฐอเมริกา" ภายใต้เครือข่ายทางการตลาดของภาคเอกชนในชื่อแบรนด์ POWCO ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญ์นลิน วิญญูประสิทธิ์ มองว่า การมอบสิทธิการผลิตและจัดจำหน่ายแก่ภาคเอกชนจะช่วยลดภาระให้กับนักวิจัย ที่น่าจะใช้เวลาไปกับการได้พัฒนางานวิชาการเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะทำให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างเต็มที่ต่อไปมากกว่า

สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับนักกีฬา หรือผู้ออกกำลังกาย จากน้ำมะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ในอนาคตอาจมีการ "ปรับรสชาติ" ตามความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน โดย "สหรัฐอเมริกา" นับเป็นประเทศเป้าหมายที่ดีของการส่งออกในอนาคต เนื่องจากมีความนิยมในการบริโภคผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวเป็นทุนเดิมและมีตลาดอาหารสำหรับนักกีฬาที่มีขนาดใหญ่อยู่แล้ว


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้